ไทยออยล์ ผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ ปรับตัวรับการมาของยานยนต์ไฟฟ้า ( EV ) ก้าวสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงานมากขึ้น ระบุล่าสุดซื้อหุ้นบริษัท CAP ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่สุดในอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ไทยออยล์ก้าวสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างธุรกิจสมบูรณ์ครอบคลุมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยออยล์ ได้เร่งปรับตัวรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า( EV ) ที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันมาโดยตลอด โดยได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ด้วยการปรับสัดส่วนกำไรจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันไปยังธุรกิจด้านพลังงานและเคมีคอลมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยออยล์มีกำไรจากปิโตรเลียม 70-80% แต่ในอนาคตกำไรจากปิโตรเคมีจะใกล้เคียงกับธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแผนยุทธศาสตร์ของไทยออยล์ได้เร่งปรับตัวทุกเรื่อง โดยมีโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นไทยออยล์ ให้มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 270,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งยังปรับเปลี่ยนน้ำมันดิบประเภท Heavy Crude Oil ไปเพิ่มมูลค่าด้วยการต่อยอดในธุรกิจปิโตรเคมีด้วย
ล่าสุดยังได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้น CAP ที่สัดส่วน 15.38% ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 39,100 ล้านบาท โดยคาดว่ากระบวนการและการดำเนินการต่างๆ ในการเข้าร่วมลงทุนใน CAP จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2564
ทั้งนี้การเข้าซื้อหุ้น CAP ถือเป็นส่วนหนึ่งในการปรับแผนธุรกิจของไทยออลย์เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยออยล์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการลงทุนก่อสร้างเองที่ต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปี และจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์ มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยสายโอเลฟินส์มีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์
โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปริมาณสูง มีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดย CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทิลีน (ethylene) ประมาณ 900,000 เมตริกตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) โรงงานปิโตรเคมีของ CAP มีกำลังผลิต 4.2 ล้านตันต่อปี และมีแผนขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ในปี 2565 อีกเท่าตัวรวมเป็น 8 ล้านตันต่อปี ใน ค.ศ.2026 (พ.ศ.2569)
นายวิรัตน์ กล่าวว่า การเข้าลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท CAP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CAP ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ การลงทุนนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่าง ไทยออยล์ กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญาส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resin) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานด้วยประเด็นที่ไทยออยล์ซื้อหุ้นใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือCAP นั้น ทาง บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยออยล์ ได้มีหนังสือแจ้งถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 ถึงมติบอร์ด ปตท. ในการประชุมครั้งที่5/2564 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และการประชุมพิเศษครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ในการสนับสนุน ไทยออยล์ เข้าซื้อหุ้นของ CAP และแผนการจัดหาเงินทุนสําหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของไทยออยล์ โดยมองว่าการลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์จะช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ของกลุ่ม ปตท.
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 30 ก.ค. 2564