คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ติดตามสถานการณ์การร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หลังผ่านไป 4 เดือน พบประชาชนยังสมัครเข้าร่วมโครงการน้อยไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 50 เมกะวัตต์ แม้รัฐจะปรับอัตรารับซื้อ เพิ่มจาก 1.68 บาทเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยแล้วก็ตาม โดยประชาชนยังมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนติดตั้ง ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลังจบโครงการ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย พ.ศ. 2564” หรือโซลาร์ภาคประชาชน ที่เปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2564 ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านการพิจารณาแล้วเกือบ 100 ราย รวมปริมาณไฟฟ้ายังไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ายังเป็นปริมาณที่น้อย หากเทียบกับโควต้าที่เปิดรับสมัครทั้งสิ้น 50 เมกะวัตต์ และจะยังเปิดรับไปจนถึงสิ้นปี 2564 นี้
อย่างไรก็ตาม กกพ.จะติดตามสถานการณ์การเข้าร่วมโครงการของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มหรือไม่ แต่ก็คาดว่าจะมีปริมาณผู้ร่วมโครงการใกล้เคียงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน รอบแรกในปี 2562 ที่มีผู้สมัครรวมปริมาณเพียง 3 เมกะวัตต์ เท่านั้น เนื่องจากมีข้อกำหนดให้ปริมาณติดตั้งได้ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ต่อหลัง แม้จะมีผู้ร่วมโครงการมากแต่ปริมาณไฟฟ้าก็จะได้ไม่เยอะ
นอกจากนี้ผู้ติดตั้งยังต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตัวเองด้วยว่า หากมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเป็นหลักจึงจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน มากกว่าจะติดตั้งเพื่อขายเข้าระบบเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นยอดรวมปริมาณไฟฟ้าปี 2564 จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้อาจจะไม่ถึง 50 เมกะวัตต์ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการยังเป็นช่วงนำร่อง ซึ่งหลังเสร็จสิ้นโครงการ กระทรวงพลังงานอาจจะกลับมาประเมินสถานการณ์ความต้องการติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชนอีกครั้งว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่อย่างไร
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC) รายงานว่า ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2564 มีผู้เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2564 รวม 210 ราย ปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 2.162 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นการสมัครเข้าผ่านมายังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และได้รับคัดเลือกแล้ว 73 ราย รวมปริมาณไฟฟ้า 399.36 กิโลวัตต์ (หรือ 0.399 เมกะวัตต์ ) จากโควต้าทั้งสิ้น 35 เมกะวัตต์ ส่วนการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ผู้สมัครทั้งสิ้น 137 ราย รวมไฟฟ้า 1,763 กิโลวัตต์(หรือ 1.736 เมกะวัตต์) จากโควต้ารวมทั้งหมด 15 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามหากนับรวมโครงการโซลาร์รูฟท็อปตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบันในปี 2564 มีผู้ร่วมโครงการรวม 1,683 ราย กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 9,018 กิโลวัตต์ (9.018 เมกะวัตต์) แบ่งเป็นสมัครผ่าน PEA จำนวน 500ราย กำลังผลิตรวม 2,582.69 กิโลวัตต์(2.582 เมกะวัตต์) และสมัครผ่านทาง กฟน. รวม 1,183 ราย รวมไฟฟ้า 6,436 กิโลวัตต์(6.436 เมกะวัตต์ )
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นโครงการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 ที่กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน 50 เมกะวัตต์ สำหรับบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี ทั้งนี้ผู้ติดตั้งจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2564 เท่านั้น
จากนั้นในวันที่ 4 ก.พ. 2564 กกพ.ได้ออกประกาศเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 15 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) รับซื้อ 35 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ 4 ก.พ. 2564 ถึง 30 ธ.ค. 2564 นี้
โดยโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2564 นี้ นับเป็นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรอบ 3 ที่กระทรวงพลังงานเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรอบแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 และรอบ 2 ปี 2563 รวมมีประชาชนสมัครรวมประมาณกว่า 400 ราย รวมกำลังการผลิตเพียง 3-4 เมกะวัตต์ เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อเดิมไม่จูงใจมากนักเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย ดังนั้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนในรอบที่ 3 จึงปรับราคารับซื้อเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย และให้ผู้ร่วมโครงการฯ ที่เคยได้รับราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วยได้ปรับราคารับซื้อขึ้นเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยแบบอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ด้วย
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 1 มิ.ย. 2564