กฟผ. เตรียมศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง ให้ทีมแพทย์ พยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้เป็นสถานที่แยกตัวและเฝ้าระวังโควิด-19 โดยมีจำนวน รวม 3 อาคาร รองรับได้ประมาณ 60 ยูนิต พร้อมทั้งกำชับพนักงานที่ควบคุมการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งจะต้องประจำการตลอด 24 ชั่วโมง รักษาตัวให้ดีที่สุดเพื่อปลอดภัยจากโรคโควิด-19
วันนี้ (6 เมษายน 2563) นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เตรียมอาคารที่พักศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง กฟผ. เป็นสถานที่แยกตัวและเฝ้าระวังโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 3 อาคาร รองรับได้ประมาณ 60 ยูนิต โดยเตรียมความพร้อมร่วมกับโรงพยาบาล ทั้งระบบด้านความปลอดภัยต่างๆ อาทิ การกั้นรั้วเพื่อให้แยกจากพื้นที่ข้างเคียง การจัดส่งอาหารด้วยภาชนะที่ใช้เพียงครั้งเดียว กำจัดเชื้อไวรัสในระบบบำบัดน้ำเสีย และการแยกบุคคลากรเป็นสัดส่วนตามอาคารต่างๆ รวมทั้งการจำกัดการเข้าออกของบุคคลภายนอก
โดยในภาวะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 กฟผ. พร้อมดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำชับพนักงานให้รักษาตัวให้ปลอดภัยจากโรคเพื่อรักษาหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งจะต้องประจำการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กฟผ. พร้อมร่วมเป็นกำลังสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบและฝ่าวิกฤต COVID-19
ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้มอบเงิน 30 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์หลักในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 และโรงพยาบาลที่อยู่รอบพื้นที่ กฟผ. จำนวน 14 แห่ง เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
การผลิตเจลอนามัย “น้ำใจ กฟผ.” ซึ่งมีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบถึง 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ มอบให้กับโรงพยาบาล ชุมชน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานีขนส่ง สถานีตำรวจ มัสยิด ทั้งแบบขวดขนาด 100 ซีซี จำนวน 15,910 ขวด และแบบถังแกลลอนขนาด 5 ลิตร จำนวน 897 แกลลอน รวมทั้งสิ้น 6,076 ลิตร เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 และได้ขยายการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้ได้มากที่สุดตลอดสถานการณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังระดมทุนทรัพย์ อุปกรณ์จำเป็น และช่างจากทุกหน่วยงานทั่วประเทศ คิดสิ่งประดิษฐ์ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์
อาทิ ตู้ความดันลบ กล่องป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย ซึ่งผลิตจากอะคริลิกใสทรงสี่เหลี่ยม เจาะช่องสำหรับสอดมือ โดยมีทั้งแบบชนิดตั้งโต๊ะ สำหรับติดตั้งบริเวณจุดคัดกรองและขณะตรวจรักษา ชนิดครอบศีรษะ สำหรับใช้งานขณะใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องกำเนิดแสงยูวี (Ultra Violet : UV) สำหรับฆ่าเชื้อโรค หน้ากากชนิดปกป้องทั้งใบหน้า (Face Shield) ตู้ครอบขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงจัดหาหน้ากาก N95 จำนวน 5,500 ชิ้น และชุดสวมใส่ป้องกัน (Cover All) จำนวน 1,700 ชุด นำไปมอบให้กับโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าและเขตเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งตั้งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีนโยบายจะจัดทำให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
รวมทั้งได้มอบหน้ากากอนามัย ที่ผลิตจากผ้าโพลีเอสเตอร์ไมโครไฟเบอร์มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเชื้อไวรัสจากเลือดและน้ำเหลืองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 11,500 ชิ้น และหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าขาวม้าให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ แท็กซี่ ผู้ขับและผู้โดยสารรถสาธารณะ พนักงานเก็บขยะ จำนวน 1,600 ชิ้น และมอบคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 เครื่อง ให้แก่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนงานด้านการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19
โดยตลอดเดือนเมษายนนี้ กฟผ. จะจัดส่งอาหารและน้ำดื่มสนับสนุนวัดและชุมชนโดยรอบหน่วยงานที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
ที่มา : Energy News Center
วันที่ : 6 เม.ย. 2563