ด้วยเหตุผลที่ว่าไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ ทั้งน้ำมันดิบ LNG LPG ถ่านหิน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะแหล่งพลังงานที่มีอยู่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยภายนอกจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ฉุดราคาพลังงานในตลาดโลกให้มีความผันผวนในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ทางออกที่ทุกคนจะช่วยประเทศได้คือการประหยัดการใช้เพื่อลดการนำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงลงนั่นเอง
สถานการณ์ในปีนี้ที่รัฐต้องการให้ทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้เห็นได้ชัดในภาคการผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนส่วนใหญ่คือค่าเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาที่แพงขึ้นมาก
โดยในค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกว่าค่าเอฟทีทั้งงวดในบิลค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย.65 และงวด พ.ค.-ส.ค.65 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานคำนวณออกมานั้นต้นทุนจริงปรับขึ้นสูงมาก เพราะสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าประมาณร้อยละ 60 นั้นใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เจอเรื่องรัสเซีย ยูเครนที่ราคาLNG กระโดดขึ้นสูงแล้ว ปีนี้ยังเจอช่วงจังหวะไม่ดีที่การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย.65 ปรับลดปริมาณลงอีกในช่วงเปลี่ยนผ่านสัญญา ทำให้ต้องมีการนำเข้าLNG ราคาแพงมาทดแทนในปริมาณที่มากขึ้น
กกพ.ชี้แจงข้อมูลต้นทุนจริงค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.65 ว่าจะสูงขึ้นถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 80,193 ล้านบาท และถึงแม้ กกพ. จะอนุมัติให้ปรับขึ้นไปก่อนเพียง 23.38 สตางค์ต่อหน่วย แต่ภาระต้นทุนที่เหลืออยู่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องทยอยจ่ายในค่าเอฟทีงวดถัดๆไปอยู่ดี
ดังนั้น เรื่องที่ภาครัฐต้องบอกให้ทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าจึงมีความสำคัญเพราะการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้านั้นจะเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดไปถึงโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงสุดเพื่อให้การผลิตไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการใช้ โดยหากการใช้ไฟฟ้าไม่ลดลง กฟผ.ก็ต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG นำเข้าที่มีต้นทุนสูงเข้ามาในระบบด้วย ยิ่งมาเจอจังหวะที่LNG ราคาแพงก็ยิ่งมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นด้วย
การลดการใช้ไฟฟ้าลงให้ได้มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นการช่วยลดการใช้LNG ราคาแพงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งผลลัพธ์คือการช่วยลดต้นทุนค่าเอฟทีในภาพรวมลง เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเองและต่อประเทศในฐานะผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ
มาตรการที่เป็นรูปธรรมของภาครัฐในการรณรงค์ประหยัดพลังงาน โดยกระทรวงพลังงาน คิกออฟเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วย แคมเปญ“รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2”ที่รัฐมนตรีพลังงานและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงและรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. กฟผ. ออกมาเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้า
ต่อเนื่องด้วยการนำเสนอเรื่องมาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 ที่ให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันลงร้อยละ 20 พร้อมทั้งรายงานผลการประหยัดพลังงานผ่าน www.e-report.energy.go.th เพื่อที่กระทรวงพลังงานจะได้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีได้
โดยแนวทางการประหยัดไฟฟ้าที่น่าสนใจ อาทิ การ ให้หน่วยงานราชการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประสิทธิภาพเบอร์ 5
การกำหนดเวลาเปิด – ปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 8.30 – 16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 – 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน
การกำหนดใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่ หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อยและรณรงค์ขึ้น – ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์
การพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำงานที่บ้าน (Work from Home)
ส่วนมาตรการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
การให้พนักงานขับรถยนต์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัด และขับรถในอัตราความเร็วที่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
การเลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทาง และจำนวนผู้เดินทาง
ส่วนที่เป็นมาตรการระยะยาว ที่น่าสนใจ อาทิ การให้ “อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม” ก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่ให้เกิน “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน” ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม
การให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน มาใช้กับหน่วยงานราชการ โดยให้กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดวิธีการและแนวทางที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง
เรื่องของการประหยัดพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันนั้น ภาครัฐมีมาตรการที่ทำเป็นตัวอย่างแล้ว ก็เหลือแต่ในส่วนของภาคเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ รวมถึงประชาชนผู้ใช้พลังงานจะช่วยกันได้อย่างไร แค่ไหน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา ปรากฏว่าหากช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลงได้มาก การที่จะสูญเสียเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าพลังงาน ก็ลดลงได้มากเช่นเดียวกัน ที่สำคัญค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของแต่ละคนก็จะลดลงด้วย
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 24 มี.ค. 2565