เสียงสะท้อนจากกลุ่มใช้รถยนต์นั่งและบรรดาไรเดอร์ส่งอาหารที่เติมน้ำมันกลุ่มเบนซิน เรื่องราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นถี่และมีราคาแพง เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ
ลองไปเทียบดูราคาน้ำมันของ PTT Station และ บางจาก วันนี้ ( 31 ม.ค. 2565) ก็เห็นว่าคนใช้รถมอเตอร์ไซด์หลายล้านคันในประเทศ ถ้าขี่ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 ราคาขยับขึ้นไปอยู่ที่ ลิตรละ 41.46 บาทแล้ว ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 34.05 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 33.78 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 32.84 บาทต่อลิตร ส่วนบรรดารถบรรทุกขนส่ง รถตู้ และรถหรูเครื่องดีเซล ถ้าเติม ดีเซล B7 ราคายังอยู่ลิตรละ 29.94 บาท เพราะกระทรวงพลังงานมีนโยบายขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เนื่องจากมองว่าหากปล่อยให้ราคาปรับสูงขึ้นเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีเพียง PTT Station และ บางจาก ที่ยังคงขายต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร
พาคุณผู้อ่านคลิกเข้าไปเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน www.eppo.go.th เพื่อดูโครงสร้างราคาน้ำมัน ที่มีการอัพเดทราคาอ้างอิงให้ดูทุกวัน โดย ณ วันที่ 31 ม.ค. 65 ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น (ยังไม่รวมภาษีและเงินนำส่งกองทุนต่างๆ) ของแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ลิตรละ 22.14 บาท ถูกกว่า ดีเซล B7 ที่มีราคา 24.44 บาทต่อลิตร อยู่กว่า 2 บาทเศษต่อลิตร แต่พอเป็นราคาขายปลีกที่หน้าปั๊ม คนใช้แก๊สโซฮอล์ 95 กลับ ใช้น้ำมันแพงกว่าคนใช้ดีเซล B7 ถึงประมาณ 4 บาทต่อลิตร
ส่วนที่ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มแตกต่างกันในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดมาจากเรื่องของอัตราจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐใช้เป็นกลไกสำคัญในการตรึงราคาดีเซล โดยในส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 นั้นต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 1.02 บาท ส่วน E20 นั้นจากที่รัฐเคยอุดหนุนลิตรละ 2.28 บาทก็ต้องจ่ายเข้ากองทุนด้วยลิตรละ 0.12 บาท ส่วนที่ไม่ต้องจ่ายเข้ากองทุนแถมได้รับการชดเชยลิตรละ 3.09 บาท ก็คือน้ำมันดีเซล B7
นอกจากนี้ เมื่อมาดูค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน จะเห็นว่า แก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดอยู่ที่ 2.27 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 2.43 บาทต่อลิตร และ E20 อยู่ที่ 2.91 บาทต่อลิตร ในขณะที่ ดีเซล B7 ถูกบวกเพิ่มเข้าไป เพียง 0.338 บาทต่อลิตร
ตอบคำถามในย่อหน้าสุดท้ายนี้ว่า รัฐตรึงดีเซลไว้ ใครต้องจ่าย? คำตอบก็คือ ณ อัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ปัจจุบัน เหล่าบรรดาคนใช้มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ส่วนบุคคล เครื่องยนต์การเกษตร ที่ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินนั่นเอง ที่เป็นคนควักจ่ายให้ และยังมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นและรัฐโดยกระทรวงพลังงานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตรึงราคาดีเซล หรือปรับอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเสียใหม่ ให้เป็นธรรมกับกลุ่มคนใช้น้ำมันเบนซินมากกว่านี้
โดยมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำเสนอเรื่องไปให้รัฐมนตรีพลังงานพิจารณาแล้วว่า เพดานราคาที่กำหนดไว้ ที่ 30 บาทต่อลิตรนั้นถูกใช้มานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือจำนวนผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือจริงๆ นั้นควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะตัวเลขการใช้ดีเซลเฉลี่ยต่อวันประมาณ 61 ล้านลิตรในขณะที่กลุ่มเบนซินใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 28 ล้านลิตร นั้น ปฏิเสธได้ยากว่ามีกลุ่มผู้ใช้อยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการบรรทุกขนส่งสินค้า เข้ามาได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากนโยบายการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรนี้ด้วย จริงมั๊ยครับ
ข้อมูลประกอบเรื่อง
น้ำมันทุก 1 ลิตรนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1) ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ร้อยละ 40 – 60) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย
2) ภาษีต่างๆ (ร้อยละ 30 – 40) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่
– ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
– ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บร้อยละ 7 ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีกร้อยละ 7 ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
3) กองทุนต่างๆ (ร้อยละ 5 – 20) เช่น
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
4) ค่าการตลาด (ร้อยละ 10 – 18) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 31 ม.ค. 2564