คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมยกเลิกมาตรการ “ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge)”สำหรับกิจการขนาดกลางและกิจการขนาดใหญ่ หลังสิ้นสุดมาตรการ 31 ธ.ค.2564 นี้ โดยนับตั้งแต่ มี.ค. 2563 ที่เริ่มใช้มาตรการดังกล่าวทำให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงรายได้หายไปกว่า 1,000 ล้านบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่มีนโยบายขยายมาตรการ “ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับกิจการขนาดกลาง, กิจการขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง,องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร” ซึ่งจะสิ้นสุดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 นี้
เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลได้เปิดประเทศหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินกิจการแล้วในขณะนี้ ดังนั้น “มาตรการยกเว้นการเรียกเก็บ Minimum Charge” จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดกับผู้ประกอบการที่กลับมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะเกิดประโยชน์เฉพาะในช่วงที่จะต้องปิดกิจการชั่วคราวมากกว่า
ทั้งนี้ Minimum Charge เป็นการคิดค่าไฟฟ้าอัตราเหมาจ่ายขั้นต่ำ 70% ของการใช้ย้อนหลัง 12 เดือน แต่ที่ผ่านมา กกพ.ได้ยกเว้นค่า Minimum Charge มาตั้งแต่ มี.ค. 2563 ทำให้ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าไฟฟ้าตามที่ใช้จริงโดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% ทั้งที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเริ่มต้นที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นประโยชน์กับกลุ่มที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวแล้ว ดังนั้นการยกเว้นค่าMinimum Charge มาเกิน 1 ปี ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่มีตัวเลขฐานการใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 70% ซึ่งเมื่อหมดมาตรการดังกล่าวในสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 นี้ และผู้ประกอบการกลับมาใช้ไฟฟ้าอีกครั้งภายใต้การคิดค่าไฟฟ้าแบบ Minimum Charge จะเท่ากับผู้ประกอบการเริ่มสร้างฐานค่าไฟฟ้าใหม่ สำหรับคิดค่า Minimum Charge ย้อนหลัง 12 เดือนอีกครั้ง
“ยกตัวอย่าง เช่น ในช่วงโควิด-19 ต้องปิดกิจการก็ใช้ไฟฟ้าเพียง 30 บาท ก็จ่ายตามจริง แต่พอหมดมาตรการ Minimum Charge แล้ว และผู้ประกอบการเริ่มฟื้นฟูกิจการ กลับมาใช้ไฟฟ้า 100 บาท ก็ต้องจ่ายตามจริงก่อน เพราะฐานการคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 12 เดือนที่ผ่านมาไม่มี แต่ในเดือนต่อๆ ไปหากใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 100 บาท ก็ต้องจ่าย 70 บาท เพราะเป็นการเหมาจ่ายขั้นต่ำ 70% ของการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 12 เดือน ซึ่งไม่ได้ก่อประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องหยุดกิจการ ดังนั้นที่ผ่านมา กกพ.จึงยกเว้น Minimum Charge ให้ แต่หากกรณีกิจการฟื้นตัว การใช้ไฟฟ้าค่อยๆ สูงขึ้นเกิน 100 บาทต่อเดือนต่อไป ผู้ประกอบการก็จายแค่ 70 บาท ซึ่ง Minimum Charge จะกลับมามีประโยชน์กับผู้ประกอบการอีกครั้ง”
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า กกพ.ไม่มีเงินเหลือเพื่อจะคงมาตรการยกเว้น Minimum Charge ต่อไปได้ และการยกเว้น Minimum Charge ก็เป็นภาระของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% ทำให้รายได้หายไปเดือนละ 50 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ได้ดำเนินมาตั้งแต่ มี.ค. 2563 หรือเกือบ 2 ปี ทำให้ 2 การไฟฟ้าขาดรายได้ไปกว่า 1,000 ล้านบาท และ กกพ. เห็นว่าการยกเว้นค่า Minimum Charge ไม่ก่อประโยชน์ในการช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ดังนั้นจึงไม่มีนโยบายจะต่ออายุมาตรการยกเว้นค่า Minimum Charge แต่หากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง และภาครัฐต้องการให้ยกเว้น Minimum Charge ต่อไป พร้อมกับหาเงินมาสนับสนุน ทาง กกพ.ก็ต้องดำเนินการตามนโยบายเช่นกัน
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 2 ธ.ค. 2564