ลุ้นสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 8-9 เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของ กฟผ. โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งคณะกรรมการรับฟังความเห็น ก่อนสรุปเสนอ ครม.พิจารณาในเดือน ธ.ค. 2564 นี้ ซึ่งหากได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างแม่เมาะจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์เพียง 2 ยูนิตกำลังการผลิต รวม 1,315 เมกกะวัตต์ จากที่ผ่านมาเคยมีอยู่รวมกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. เล็งนำโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดมาช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของภาคเหนือแทน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงนามประกาศแต่งตั้ง “คณะกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)” ซึ่งมีกรรมการทั้งสิ้น 5 คนและฝ่ายเลขานุการอีก 3 คน โดยมีศาสตราจารย์วินัย วนานุกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่เปิดรับฟังความเห็นประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นรายงานสรุปต่อ กกพ. เพื่อนำไปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ต่อไป
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว หลังจากนี้ กฟผ. เตรียมจัดส่งรายงาน EHIA เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการนำเสนอ ครม. โดยคาดว่าจะเสนอเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในเดือน ธ.ค. 2564 นี้
โดยโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟเข้าสู่ระบบในปี 2569 เพื่อช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ ทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม(หน่วยที่ 8 จะถูกปลดออกจากระบบปี 2565 และหน่วยที่ 9 จะปลดปี 2568 เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน) คาดใช้เงินลงทุนก่อสร้างประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ที่ผ่านมามีหน่วยผลิตไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 14 หน่วย รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 3,005 เมกะวัตต์ แต่หน่วยที่ 1-7 (รวมกำลังผลิตติดตั้งรวม 789 เมกะวัตต์ )ได้ปลดออกจากระบบไปนานแล้ว เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน
และล่าสุดหน่วยที่ 8-9 (รวมกำลังผลิตติดตั้งรวม 540 เมกะวัตต์ )หมดอายุไปเมื่อปี 2565-2568 แต่เพื่อให้ไฟฟ้าในภาคเหนือมีเพียงพอ กฟผ.ได้สร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 4-7 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 655 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ปี 2562 นอกจากนี้ กฟผ. ยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติ ครม.ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนหน่วยที่ 8-9 กำลังผลิตอีก 600 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่เหลือ 10-13 (กำลังผลิตติดตั้งรวม 1,200 เมกะวัตต์ ) จะทยอยหมดอายุตั้งแต่ปี 2564-2568 เช่นกัน ส่วนหน่วยที่ 14 เพิ่งเข้าระบบเมื่อปี 2562 ดังนั้นปัจจุบัน กฟผ.มีไฟฟ้าจากแม่เมาะรวม 2,455 เมกะวัตต์ แต่จะทยอยปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิมลง เมื่อถึงปี 2569 จะเหลือโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพียง 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,315 เมกะวัตต์
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 8-9 ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่จะได้ก่อสร้าง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตาม แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero)
โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก และมีกำลังผลิตเกินความต้องการใช้เล็กน้อยจึงส่งกำลังผลิตที่เหลือไปป้อนความต้องการใช้ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ แต่ในอนาคตปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเหลือเพียง 1,315 เมกะวัตต์ ดังนั้นที่ผ่านมา กฟผ. จึงออกมาระบุว่าจะนำโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-floating solar hybrid) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้าระบบอีก 2,725 เมกกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีกำลังผลิต 45 เมกกะวัตต์ ณ เขื่อนสิรินธร ซึ่งจะช่วยทดแทนกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ลดน้อยลงและเป็นการเตรียมพร้อมสู่พลังงานสะอาดในอนาคตด้วย
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 19 ต.ค. 2564