สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดแผนพลังงานแห่งชาติ เริ่มใช้ได้จริงปี 2566 โดยจะเปิดรับฟังความเห็นกรอบแผนฯที่ได้รับการอนุมัติจาก กพช.ในเดือน ก.ย. 2564 นี้ ก่อนมอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทำ 5 แผนย่อย เพื่อสรุปเสนอ กพช.ประมาณ พ.ย.-ธ.ค. 2565 ชี้แผน AEDP 2018 จะต้องปรับปรุงใหม่ ให้รองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.คาดว่าแผนพลังงานแห่งชาติทั้งหมดจะเสร็จและพร้อมใช้ได้จริงอย่างช้าที่สุดต้นปี 2566 โดยยืนยันว่าการจัดทำแผนดังกล่าวยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 ที่ในเดือน ก.ย. 2564 นี้จะเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานแห่งชาติรอบแรก ซึ่งจะเป็นกรอบและทิศทางของแผนฯที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น และกำลังพิจารณาให้มีกำหนดระยะเวลาของแผนฯ ด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะครอบคลุมการใช้งานระหว่าง ปี 2564-2580
โดยไทม์ไลน์หลังจากรับฟังความเห็นรอบแรกจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนแล้ว จะนำมาปรับปรุงแผนฯ และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำแผนฯ ไปจัดทำแผนย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 และ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan ซึ่ง สนพ.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ, แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP และ แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan ทางกรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามในการจัดทำ 5 แผนย่อยดังกล่าว อาจมีการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ได้ ขึ้นกับการพิจารณาของหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นหลัก และเมื่อจัดทำเสร็จเรียบร้อยทั้ง 5 แผนแล้ว จะนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อรวบรวมและจัดทำให้เป็นภาพรวมแผนพลังงานแห่งชาติเพียงฉบับเดียว และจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมต่อไป
ทั้งนี้คาดว่าจะนำภาพรวมของแผนพลังงานแห่งชาติที่ผ่านการพิจารณาของ กบง.และรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว ไปนำเสนอต่อ กพช. ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้อย่างช้าที่สุดประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 และเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้แผนพลังงานแห่งชาติได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เบื้องต้นอาจต้องมีการปรับโครงสร้างแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ใหม่ในระยะเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564-2573 ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เน้นพลังงานสะอาดมากขึ้น
โดยอาจปรับเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนบางชนิดขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่องที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณรวมไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ แต่ในปี 2564 นี้อาจพิจารณาเพิ่มกรอบการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ มากขึ้น รวมถึงแนวทางการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เฟส 2และเฟสต่อๆ ไปด้วย ซึ่งในแผนAEDP2018 กำหนดกรอบการรับซื้อไว้ 1,900 เมกะวัตต์ แต่กระทรวงพลังงานเริ่มต้นทำเป็นโครงการฯนำร่องเพียง 150 เมกะวัตต์ ก่อน ดังนั้นหลังจากนี้อาจจะพิจารณาปริมาณรับซื้อดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังต้องเร่งรัดโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่ยังล่าช้าให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 30 ส.ค. 2564