รัฐมนตรีพลังงาน คาดภายในเดือน ก.ย. 2564 นี้รัฐจะออกแผนส่งเสริมรถ EV ทั้งด้านการเงินและภาษีได้ ยืนยันแผนพลังงานแห่งชาติของไทยต้องมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดภาระเศรษฐกิจ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ด้าน สนพ. ระบุเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานแห่งชาติเดือน ก.ย. 2564 นี้ คาดใช้ได้จริงปี 2565 พร้อมเร่งทบทวนเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนใน PDP 2018 rev1
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเสวนาในงานทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายพลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นในแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส หรือ Cop21 ซึ่งไทยกำหนดจะก๊าซลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศา ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 จึงได้ประกาศกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยตั้งเป้าจะลดก๊าซคาร์บอนฯให้เป็น 0% หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2565-2570
นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องนำไปใช้เพื่อลดก๊าซคาร์บอนฯในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นภาระถึง 6-7 แสนล้านบาทต่อปีที่ต้องใช้ลดก๊าซคาร์บอนฯลง โดยภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนฯมากที่สุดถึง 250 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจากนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ภาคพลังงานไทยลดปล่อยคาร์บอนฯเหลือเพียง 90 ล้านตันต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้าได้
ดังนี้แนวทางลดคาร์บอนในภาคพลังงาน มี 4 ด้าน คือ 1. เพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น 50% ของพลังงานทั้งหมด 2. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ตามนโยบาย EV 30:30 หรือ การส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 ข้อ 3.ลดการใช้พลังงานในระบบอุตสาหกรรมลงให้มากกว่า 30% ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ และ4. ปรับโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงาน
อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าการผลิตพลังงานทดแทนตามเป้าหมายให้มากกว่า 50% แล้ว โดยจะเดินหน้าต่อเนื่องจากที่ทำมาแล้วในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าเดือน ต.ค. 2564 นี้จะทราบผลประมูลที่ชัดเจน รวมทั้งจะทำให้เป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยต้องมีการปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าเดือน ก.ย. 2564 นี้ รัฐบาลจะออกนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินและมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนนโยบาย EV 30:30
สำหรับแนวทางดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดก๊าซฯคาร์บอน และลดภาระ 6-7 แสนล้านบาทต่อปีแล้ว ยังถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไว้ได้
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเกษตรกรจะได้ประโยชน์ในการปลูกพืชผลและต่อไปไทยจะก้าวไปสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศได้อีกด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานแห่งชาติภายในเดือน ก.ย. 2564 นี้ หลังจากนั้นจะนำมาจัดทำ 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 ,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP ,แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP, แผนก๊าซธรรมชาติ หรือ GAS และแผนน้ำมัน หรือ Oil ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้แผนพลังงานแห่งชาติที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดได้ในปี 2565 นี้
โดยแผนพลังงานแห่งชาติ จะมุ่งเน้นพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยแนวทางที่จะดำเนินการ 4 ข้อได้แก่ 1. การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนให้มากกว่า 50% ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานสำรองหรือ แบตเตอรี่ 2.การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ให้ได้ 30% ภายในปี2030 ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้เป็นพลังงานสีเขียว เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาดด้วย 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือลดใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30% เพื่อไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ ซึ่งต้องส่งเสริมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย และ 4. การปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทั้งระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ(สมาร์ทกริด)และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่แผนพลังงานแห่งชาติดังกล่าว ไทยยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้าอยู่ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยสุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้แผนพลังงานแห่งชาติจะมุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาด แต่กระทรวงพลังงานยังคงต้องดูแลด้านความมั่นคงไฟฟ้าและลดต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยภาพรวมด้วย รวมทั้งต้องพิจารณาว่าจะจัดหาโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะมาทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมอย่างไรเพื่อให้ลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย
อย่างไรก็ตามนโยบายการลดก๊าซฯคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2565-2570 นั้น เป็นการพิจารณาร่วมกันของกระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยดูจากศักยภาพของประเทศไทยเป็นหลักทั้งด้านราคาพลังงานทดแทนที่ยังสูงอยู่และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งการทำแบบจำลองพบว่าปี 2565-2570 เหมาะสมกับไทยมากสุด แต่หากอนาคตเทคโนโลยีถูกลงก็อาจปรับเป้าหมายให้เร็วขึ้นได้
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน ปัจจุบันกระทรวงพลังงานเดินตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ดังนั้นแผนเร่งด่วนในปี 2564-2573 จะมีการทบทวนปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนฯ โรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ โรงไฟฟ้าขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม รวมไปถึงการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน และเร่งรัดโปรเจ็กต์พลังงานทดแทนที่ล่าช้าให้เร็วขึ้นด้วย โดยจะรีบนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่เกินปลายปี 2564 นี้
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า GPSC ได้เตรียมพร้อมสู่ทิศทางโลกที่เน้นพลังงานสะอาดมากขึ้น และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยบริษัทฯ กำหนดเป้าหมายใน 1-3 ปีข้างหน้าให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกิน 50% ของเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งจะลดการปล่อยคาร์บอนฯต่อพลังงานไฟฟ้าลงให้ได้ 30-40% โดยปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ และวางเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเติบโตขึ้นอีก 3-4 เท่า หรือปริมาณผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 15,000-20,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้มาจากพลังงานทดแทนมากกว่า 50% ซึ่งการจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นได้นั้น ระบบกักเก็บพลังงานสำรองหรือแบตเตอรี่จะมีความสำคัญมาก ดังนั้น บริษัทฯจึงได้มุ่งเน้นการลงทุนไปในเรื่องแบตเตอรี่ด้วย
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 27 ส.ค. 2564