ส่อง 7 เอกชนไทยลุยลงทุนพลังงานลมต่างประเทศ
การลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศของภาคเอกชนไทยในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อีกทาง เพราะแม้จะไม่ได้ส่งพลังงานที่ผลิตได้กลับมาให้คนในประเทศได้ใช้ แต่ก็เป็นการนำเงินตราต่างประเทศจากผลกำไรที่ได้จากการลงทุนกลับเข้ามา อย่างน้อยก็ช่วยถัวเฉลี่ยกับการที่ประเทศต้องเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ก๊าซLNG หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว
นักลงทุนเอกชนรายใหญ่ไทยที่ออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศ ส่วนสำคัญคือการมองเห็นโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี จากแนวโน้มของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ หรือการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
ในขณะที่ศักยภาพของพลังงานลมในประเทศไทยเองมีอยู่ไม่มาก และยังต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามาส่งเสริมให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไปส่วนหนึ่งแล้ว และยังไม่มีนโยบายเปิดรับซื้อเพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้นี้
เอกชนไทยรายไหนที่ออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศบ้าง ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รวบรวมเฉพาะโครงการที่น่าสนใจมาให้ติดตามดังนี้
1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการทุ่มเงินลงทุนประมาณ19,570 ล้านบาท ให้บริษัท Gulf International Holding Pte. Ltd. หรือ GIH ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในกลุ่มของ Borkum Riffgrund 2 Investor Holding GmbH, Frankfurt am Main, Germany หรือ BKR2 Holding ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 50% ในโครงการ Borkum Riffgrund 2 Offshore Wind Farm GmbH & Co. oHG หรือ โครงการ BKR2 ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล ในประเทศเยอรมนี ขนาด 464.8 เมกะวัตต์ ซึ่งก็รอติดตามดูการรับรู้รายได้และกำไรจากการลงทุนครั้งนี้ว่าคุ้มค่าแค่ไหน
2.บริษัท อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเซีย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Impact Energy Asia Development Limited – IEAD) โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 การไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) และ บริษัท IEAD ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “โครงการ มอนสูน” ขนาด 600 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยโครงการ มอนสูน จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน ระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568 คาดว่ามีปริมาณเทียบเท่ากับการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 35 ล้านตัน
โดย มอนสูน ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่พัฒนาโดยคนไทย ในนามกลุ่มอิมแพค เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (Impact Electrons Siam Company Limited – IES) โดยที่ บริษัท บีซีพีจี เข้ามาร่วมถือหุ้นในตอนหลัง
ว่ากันว่าศักยภาพพลังงานลมที่มอนสูน นั้นดีที่สุดในลาว ที่ยังพัฒนาได้มากเกินกว่า 600 เมกะวัตต์ และหากมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในพื้นที่ใกล้เคียง ผสมผสานแบบไฮบริด จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ส่งจ่ายไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถแก้ปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนช่วงหน้าร้อนในภาคอีสานของไทยได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายว่า กระทรวงพลังงานของไทย ไม่ได้มองเห็นศักยภาพและโอกาสในจุดนี้ เหมือนที่รัฐบาลเวียดนามมองเห็น
3.บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้ส่งบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GRSC ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าร่วมทุน กับบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) เมื่อ 16 ก.ค. 2564 ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน โดย GPSC ใช้เงินเพื่อร่วมทุนครั้งนี้ประมาณ 1.6หมื่นล้านบาท โครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิต 595 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี โดยทั้งโครงการจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567
4.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) ก็เข้าไปลงทุนโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล “หยุนหลิน” กำลังการผลิต 640 เมกะวัตต์ในไต้หวัน ที่คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปลายปี 2564 นี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกำไร 1,400 ล้านบาทต่อปี
5.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ได้ประกาศลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเน็กส์ซิฟ เบนเตร กำลังผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และที่ผ่านมาได้ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิต 214.2 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลียด้วย โดยมุ่งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 2,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,100.32 เมกะวัตต์ สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2,072,553 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ซุปเปอร์ วินด์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด (SWE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SUPER ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยได้รับวงเงินสินเชื่อ (Project Financing) จำนวน ประมาณ 2,300 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการ HBRE Gia Lai Joint Stock Company โรงไฟฟ้าพลังงานลมบนพื้นดิน (Onshore) ที่ประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 50 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จังหวัด Gia Lai ประเทศเวียดนาม และเป็นโครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff มีอัตราการรับซื้อไฟฟ้า 8.05 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 20 ปี นับจากวันที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือประมาณปลายปี 2564 นี้
7.บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP ก็เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม 4 โครงการในเวียดนามที่จะจ่ายไฟในเดือน ต.ค. 2564 ประกอบด้วย โครงการ HL3 โครงการ HL4 โครงการ TN และโครงการ MN ขนาดกำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนราว 7,040.92 ล้านบาท รวมทั้งยังมองหาโอกาสในการลงทุนโครงการอื่นๆ เพื่อขึ้นเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม
แง่ดีอีกด้าน ที่เอกชนไทย ออกไปแสวงหาโอกาสลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง ก็หวังว่าจะทำให้มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ และนำกลับมาพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศโดยที่ไม่หวังการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงจนเป็นภาระผู้ใช้ไฟฟ้าเหมือนเช่นในอดีต
โดยการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือ PDP 2022 ที่จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2580 นั้นต้องรอดูว่า รัฐจะเติมไฟฟ้าจากพลังงานลมเข้ามาเพิ่มมากน้อยแค่ไหน จากแผนเดิมที่ กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมรวม 2,989 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 1,504 เมะวัตต์
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 20 ก.ค. 2564