วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานสักขีพยาน พร้อมกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศ” พัฒนาแพลตฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตขององค์กรได้ตามเป้าหมาย และมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากลต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดตัวและแนะนำเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในการร่วมกิจกรรมเพื่อลดหรือชดเชยปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network จะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ตามประชาคมโลก โดยภาคีสมาชิกของเครือข่ายนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการใช้กลไกราคาคาร์บอนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าของ Carbon Credit ซึ่งกันและกัน สร้างความโปร่งใส และ ยุติธรรมในตลาดคาร์บอน รวมทั้งร่วมสนับสนุนโครงการภาคป่าไม้ประเภทต่างๆ ตามนโยบายของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก สร้างผลประโยชน์ร่วม หรือ Co-Benefit ให้แก่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำที่สุด โดยผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกันพัฒนาขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกฯ ซึ่งมีมากกว่า 10,000 ราย ดำเนินโครงการและกิจกรรมลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นแนวทางสำคัญที่ ส.อ.ท. ให้การสนับสนุนจึงได้เร่งพัฒนาแพลทฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่ง ส.อ.ท. มีความพร้อมในการขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้ตลาดเป็นที่นิยมแพร่หลายและมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้มีการจัดตั้ง Thailand RE 100 club ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม ทั้งฝั่ง Demand และ Supply ตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่สามารถเข้ามาร่วมใช้แพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และ Renewable Energy RE เพื่อตอบโจทย์ของการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนในการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศมีข้อตกลงจนได้ออกนโยบาย การตั้งเป้าหมาย ตลอดจนกฎระเบียบต่างๆอย่างชัดเจนมาเป็นระยะๆ เพื่อให้ห่วงโซของธุรกิจ Supply chain ต้องปฎิบัติ นอกจากนี้สถาบันการเงินชั้นนำต่างๆยังกำหนดเรื่องการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนมาเป็นหัวข้อในการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจขององค์กรและบริษัทต่างๆ ด้วย จึงเป็นนิมิตหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย และ Thailand RE 100 club ที่จะมาเชื่องโยงกันในการขับเคลื่อนสังคมไร้คาร์บอน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของประเทศไทยทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า TGO ได้ริเริ่มดำเนินโครงการจัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network หรือเรียกสั้นๆ ว่า TCNN เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand Long-Term Strategies on Climate Change Mitigation) ตลอดจนร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พัฒนา “Thailand Carbon Credit Exchange Platform” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มหลักของประเทศไทยสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานประเทศไทย หรือ TVERs ที่ทาง อบก. เป็นผู้ให้คำรับรอง และหวังไว้ว่าจะเป็นตลาดกลางที่โปร่งใส ถูกต้อง เชื่อถือได้ สามารถรายงานระดับราคาที่ยุติธรรมและมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากล อีกทั้งเป็นเวทีให้องค์กรผู้นำที่มีความรับผิดชอบสูงในการลดก๊าซเรือนกระจกและองค์กรผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ ในระดับต้นทุนต่ำได้มาแลกเปลี่ยนคุณค่าของ Carbon Credit ซึ่งกันและกัน เพื่อทั้งทำกำไรและนำไปสู่การลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำสุด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานตาม Carbon Neutral Pathway ของสมาชิก TCNN ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
วันที่ : 7 ก.ค. 2564