กบง.ประชุมออนไลน์รับทราบแนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศ โดยมอบ สนพ., สำนักงาน กกพ. และ กฟผ. ร่วมพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และพิจารณาทบทวนเกณฑ์ Reserve Margin ใหม่ พร้อมทั้งยังมีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 ฉบับ (5 ผลิตภัณฑ์) เพื่อเป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด– 19 ตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เสนอ เพื่อเป็นไปอย่างครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้ (14 พ.ค. 64) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ผ่านระบบออนไลน์ ที่ประชุม ได้รับทราบ แนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศ ตามข้อเสนอของ คณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และพิจารณาทบทวนเกณฑ์ Reserve Margin โดยพิจารณาจากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึง ปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี
โดยมอบหมายให้ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ โดยให้คำนึงถึงการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ให้กระจายออกไปในช่วงอื่น ๆ ของวัน เพื่อลดการจัดหา/สร้างโรงไฟฟ้า การวางแผนและดำเนินการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต เป็นต้น
กบง. ยังมีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 ฉบับ (5 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดปั๊มความร้อนแบบดึงความร้อนจากอากาศถ่ายเทให้แก่น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. …. 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดฟิล์มติดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. …. 3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดฉนวนอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. …. 4.ร่างกฎกระทรวงกำหนดเตารังสีอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. …. และ 5.ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัดลมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. …. โดยร่างกฎกระทรวงฯ ข้างต้น จะเป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ จะมีสิทธิได้รับการส่งเสริมมาตรการการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด– 19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เสนอ เพื่อเป็นไปอย่างครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยให้ครอบคลุมลูกค้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564) วงเงินประมาณ 15.04 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนลดดังกล่าวจะทำให้เงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าซึ่งมีรายได้มากกว่าที่ควรได้รับในปี 2564 มีจำนวนลดลง
กบง. ยังรับทราบ มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ตามหลักการที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564) ในวงเงินประมาณ 8,755 ล้านบาท อีกทั้งยังรับทราบแนวทางของ กกพ. ในการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าตามจริง เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564) โดยให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 14 พ.ค. 2564