ประเด็นการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า ปตท.สผ.ยอมรับว่าจะกระทบต่อปริมาณการผลิตตามข้อกำหนดของสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ทำไว้กับรัฐ ในขณะที่แนวโน้มไตรมาสสองคาดว่าจะมีรายได้มากขึ้นจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น
นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงประเด็นการเข้าพื้นที่แหล่ง G1/61 (เอราวัณ) ของ ปตท.สผ.ที่มีความล่าช้า ว่าบริษัทยังไม่มีแผนปรับลดงบลงทุนในแผน 5 ปีแต่อย่างใด
โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้รับสัมปทานเดิม รวมทั้งเจรจากับผู้รับซื้อก๊าซฯ ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ
อย่างไรก็ตามคาดว่าความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตที่อาจไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ทำไว้กับรัฐ แต่บริษัทก็ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 ของ ปตท.สผ. คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากบริษัทจะมีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.16 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เทียบกับไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 3.83 แสนบาร์เรลต่อวันโดย มาจากการรับรู้โครงการ Oman Block 61 ในรัฐสุลต่านโอมานเต็มปี
ขณะที่คาดว่าในไตรมาสนี้ ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ของบริษัทจะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2564 ที่ 27-28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาก๊าซฯจะปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ทั้งนี้บริษัทยังคงแผนลงทุนในปีนี้ แม้ว่าจะมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หรือความไม่สงบในบางประเทศ ที่อาจส่งผลให้บางโครงการต้องล่าช้าออกไป อาทิ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ที่ต้องชะลอออกไปก่อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก ขณะที่โครงการ Gas to Power กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเมียนมา ยังดำเนินการตามแผน แม้ว่าในช่วงนี้จะยังไม่สามารถลงพื้นที่ได้ แต่ด้านการออกแบบทางวิศวกรรมและการเจรจาสัญญาขายไฟฟ้ายังเป็นไปตามแผน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย ในปี 2565 และคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ปลายปี 2568
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 6 พ.ค. 2564