โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 150 เมกะวัตต์ (MW) ปัจจุบันนับว่าเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายก็ว่าได้หากไม่มีอะไรทำให้ต้องแหกโค้งเสียก่อน เพราะด้วยโควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการได้ปรับเวลายื่นข้อเสนอประมูลจากเดิมในวันที่ 21-30 เม.ย. 64 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศ โดยได้ทำโปรแกรมสำหรับให้ผู้ยื่นเลือกวัน และช่วงเวลาที่จะเข้ามายื่นซองเอกสาร ผ่านทางระบบ PPIM (https://ppim.pea.co.th) โดยผู้ยื่นสามารถ log in เข้าระบบ PPIM ตาม User ที่เคยลงทะเบียนไว้ และเข้าเลือกวันเวลาที่ต้องการมายื่นเอกสารกับ PEA เมื่อผู้ยื่นเลือกวันเวลาเรียบร้อย ระบบจะให้ยืนยันอีกครั้งก่อน กดส่ง และโปรดพิมพ์ใบนัดหมายวันเวลายื่นเอกสารจากระบบ PPIM เพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ PEA ตามวันและเวลาที่นัดหมาย
โดยนำมายื่นพร้อมกับซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาที่มีใบปะหน้าซองซึ่งพิมพ์จากระบบ PPIM หรือสำเนาใบเสร็จการชำระเงินค่าหลักประกันการยื่นซองเอกสารคำเสนอขอขายไฟฟ้า เพื่อแสดงว่าได้ชำระเงินค่าหลักประกันฯ เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จะเปิดให้ผู้ยื่นเข้าเลือกวันเวลามายื่นซองได้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 08.30 น. จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 23.59 น.
ทั้งนี้ PEA ขอให้ผู้ยื่นเร่งดำเนินการจองนัดหมายคิวการมายื่นซองเอกสารและมาตามวันและเวลาที่จองนัดหมายไว้ เพื่อรักษาสิทธิลำดับการยื่นซองเอกสารคำเสนอขอขายไฟฟ้าของผู้ยื่น และสามารถยื่นได้ทันตามกำหนดวันเวลาที่ PEA เปิดรับยื่น (หากไม่รีบจองคิวการยื่น แล้วในวันสุดท้ายคิวถูกจองเต็มแล้ว จะทำให้ไม่สามารถมีใบนัดหมายมายื่นซองเอกสารกับ กฟภ.ได้) โดยเมื่อผู้ยื่นนำเอกสารมายื่นที่ PEA ตามวันเวลาที่นัดหมาย เจ้าหน้าที่เรียกให้ผู้ยื่นเข้ายื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ตามลำดับคิวในใบนัดหมาย และจะกดรับเรื่องเข้าระบบเมื่อได้รับซองเอกสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะถือวันเวลาที่กดรับเรื่องเข้าระบบเป็นลำดับการยื่นเอกสารตามวันเวลาดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ผู้ยื่นโปรดติดตามประกาศรายละเอียดขั้นตอน และเงื่อนไขการยื่นเอกสารผ่านทางเว็บไซต์ PPIM ต่อไป
ภายหลังจากปิดรับยื่นซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาแล้ว (ปิดรับในวันที่ 30 เมษายน 2564) กฟภ.จะตรวจสอบเอกสารและแจ้งสิทธิในรายที่เอกสารไม่ครบถ้วน ถูกต้องสมบูรณ์ ให้มายื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 จะแจ้งผลทาง e-mail ให้ผู้ยื่นรายที่เอกสารไม่ครบถ้วนทราบ และให้ผู้ยื่นนำเอกสารเพิ่มเติมใส่ซองปิดผนึก นำมายื่นที่อาคารคลับเฮ้าส์ PEA สำนักงานใหญ่ ในวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30-16.30 น. โดยผู้ยื่นจะเข้าไปจองวันเวลาที่จะเข้ามายื่นเอกสารเพิ่มเติมได้ผ่านทางระบบ PPIM เช่นเดิม โดยระบบจะเปิดให้ผู้ยื่นเข้าเลือกวันเวลาที่จะมายื่นเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30 น. จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 23.59 น. โดย PEA จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ PPIM และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา พร้อมเหตุผล ให้แก่ผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิคทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากผู้ยื่นต้องการอุทธรณ์ผลการพิจารณาสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ กกพ.ได้ภายใน 15 วัน (ภายในวันที่ 4 มิถุนายน 2564) โดย กกพ.จะแจ้งผลการอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 และ กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วันนับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ (ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564)
ด้วยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นที่จับตาของเอกชนอย่างใกล้ชิดว่างานนี้จะฝ่าด่านอุปสรรคโควิด-19 ไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ภาพรวมทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะเดินหน้าไปได้เสียทีจากที่โครงการนี้ถูกตั้งต้นไว้มาจนถึงวันนี้ก็กินเวลาไปแล้วปีกว่า อีก 3 เดือนก็ครบ 2 ปีนับตั้งแต่โครงการนี้ถูกวางพื้นฐานไว้ตั้งแต่ยุคของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่เข้ามานั่งกุมบังเหียนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในช่วง ก.ค. 62 ซึ่งผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่การรอบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับปรับปรุง รอหนังสือเวียนความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาและนำส่ง ครม. ประกอบกับระหว่างนั้นยังเจอการระบาดโควิด-19 มาแล้วถึง 2 รอบทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีความล่าช้าออกไปอีก
วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นโครงการนำร่องจำนวน 150 เมกะวัตต์ในแบบฉบับของ “สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบสนธิรัตน์ไปพอสมควร แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวน 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25% จำนวน 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพจากกลุ่มผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) หรือมีกำลังผลิตไฟต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย
เกณฑ์การร่วมทุน ได้แก่ ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 90% วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ถือหุ้นในสัดส่วน 10% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิ) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า ขณะที่การจัดหาเชื้อเพลิงต้องมีสัญญารับซื้อในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อ ระยะเวลาการรับซื้อ คุณสมบัติ และราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญา โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้ต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาได้เองไม่เกิน 20%
วิธีการคัดเลือกโครงการ จะมีการพิจารณาข้อเสนอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคา โดยด้านเทคนิคจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข และประเมินด้านเทคนิค เช่น ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการเงิน ความพร้อมด้านพื้นที่ มีระบบสายส่งรองรับ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง รวมถึงพื้นที่ปลูก ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เป็นต้น ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป ขณะที่ด้านราคา จะเป็นการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดสูงสุดจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทิ้งโครงการ เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการวางหลักประกันคำเสนอขอขายไฟฟ้าจำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ เป็นต้น
เอกชน 700 รายแห่ตรวจสอบ Feeder
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดให้มีการยื่นให้เอกชนตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ กฟภ. ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ไปยื่นประมาณ 345 ราย และเมื่อรวมกับผู้ที่ได้ไปยื่นตรวจไว้แล้วในปี 2563 ที่ผ่านมาอีกกว่า 300 ราย รวมๆ ก็น่าจะอยู่ประมาณ 700 ราย ดังนั้น หากพิจารณาจากผู้ที่เข้ามายื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฯ ก็ชี้ให้เห็นถึงเอกชนมีความสนใจค่อนข้างมาก
“โรงไฟฟ้าชุมชนแบ่งเป็นการรับซื้อชีวมวล 75 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตติดตั้งต้องไม่เกินโครงการละ 6 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ ไม่เกินรายละ 3 เมกะวัตต์ หากประเมินง่ายๆ แบบตามนี้เลยก็จะมีโครงการที่ได้รับซื้อประมาณ 38 โครงการ แต่ถ้ามีการเสนอขายไฟแบบไม่ได้เต็มจำนวนคิดเป็นอย่างละ 50% ก็จะอยู่ราว 80 โครงการไม่เกินนี้ อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนมายื่นตรวจสอบ Feeder จำนวนมากก็ไม่ได้หมายถึงว่าทุกรายจะผ่านไปได้หมด โดยเฉพาะก่อนอื่นต้องผ่านด้านเทคนิคไปก่อน” นายนทีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าบริษัทที่อยู่นอกตลาดฯ แต่ทั้งนี้ตัวแปรที่สำคัญก็อยู่ที่วิสาหกิจชุมชนด้วยเพราะจะต้องเสนอผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่สูงหรือเป็นที่พอใจเพราะรัฐไม่ได้กำหนดเป็นตัวเงินเอาไว้ ดังนั้นการจะไปเสนอลดค่าไฟฟ้ามากๆ ในการเสนอแข่งขันแล้วไปทำให้ประโยชน์แก่ชุมชนลดน้อยลงก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องสมดุล และพืชพลังงานที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้ากำหนดให้ปลูกใหม่ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องที่ดิน
เผย 1 MW ต้องใช้ที่ปลูกพืชพลังงานพันไร่
นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย นายกสมาคมการค้าชีวมวลไทยกล่าวยอมรับว่า โรงไฟฟ้าชุมชนกรณีที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ (MW) จะต้องมีพื้นที่สำหรับการปลูกพืชพลังงานประมาณ 1,000 ไร่ต่อ 1 เมกะวัตต์ โดยหากเป็น 3 เมกะวัตต์ก็จะใช้พื้นที่ราว 3,000 ไร่ คิดการลงทุนเพาะปลูกพืชใหม่ราว 30 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าวิสาหกิจชุมชนจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่มีเงินลงทุน ที่สุดแล้วการเจรจาก็จะเป็นรูปแบบของหุ้นส่วน (Partnership)
“วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกว่า 8 หมื่นแห่งวันนี้ที่ทำธุรกิจจริงๆ มีไม่ถึง 500 แห่ง การลงทุนครั้งนี้เป็นลักษณะของการเป็นนอมินีให้กับโรงไฟฟ้ามากกว่า ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เป็นโมเดลแบบ Win Win Partnership เพื่อทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสยืนได้ด้วยตนเองในระยะยาว” นายวัฒนพงษ์กล่าว
ขู่ยื่นฟ้องศาลปกครอง
ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษ์ป่าตะวันออก ( ปม. ) กล่าวว่า เอกชนและวิสาหกิจชุมชนบางส่วนกำลังพิจารณาทำหนังสือยื่นถึงศาลปกครองเพื่อขอให้ กกพ.ได้ทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนของการประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (Biogas plant) ที่มีการแก้ไขจาก 2 ราคาเหลือเพียงราคาเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ 1. เกษตรกรจะขายพืชพลังงานได้น้อยลง 2. ไม่เป็นธรรมในเรื่องการแข่งขัน Bidding
“ผมได้ไปดูรายละเอียดการที่ กกพ.ได้กำหนดตัวเลขค่าไฟฟ้าให้แตกต่างกัน โดยมี 2 ราคา ก็เพราะการใช้พืชพลังงานเหลือเพียง 75%+น้ำเสีย/ของเสีย 25% กับการใช้พืชพลังงาน 100% ก็นับว่ามีเหตุผลรองรับ แต่ถ้าดูจากราชกิจจานุเบกษา 18 มีนาคม 2564 จะกำหนดให้มีราคาไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) กรณีผสมน้ำเสียของเสียไม่เกิน 25% Fit = 4.7269 บาทต่อหน่วย เพียงราคาเดียวก็ทำให้มีข้อสงสัยว่าทำไมจึงมีการแก้ไขราคาจาก 2 ราคา เหลือเพียง 1 ราคา ทั้งๆ ที่ในรายงานการประชุมของ กพช.เมื่อ 16 พ.ย. 2563 ไม่มีการเสนอขอแก้ไขราคา เพียงแต่ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิงเท่านั้น” ม.ร.ว.วรากรกล่าว
นอกจากนี้ ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 พ.ย. 63 ก็ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า หากจําเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา
ดูเหมือนว่าโค้งสุดท้ายของโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ก็ยังคงมีอะไรให้ลุ้นกันอยู่ แต่เสียงสะท้อนเอกชนส่วนใหญ่ล้วนอยากให้เดินหน้าเป็นรูปธรรมเสียที เพื่อให้เป็นโครงการชี้วัดอนาคตไปเลยว่าในเฟสต่อไปควรจะเดินต่อหรือไม่ และหากมีข้อบกพร่องจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลน่าจะมีคนยื่นขอกันเป็นจำนวนมากเพราะเสนอได้มากถึง 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันสูงเพราะโอกาสได้รับพิจารณาจะน้อยโรง
ขณะที่ฝั่งของก๊าซชีวภาพ การหาพันธมิตรโรงน้ำเสียเข้าร่วมมีโอกาสน้อยมาก และยังต้องแสวงหาวิสาหกิจปลูกหญ้าอีก 75% จึงไม่ค่อยมีใครกล้าทำโครงการ ขณะที่การรับซื้อ 75 เมกะวัตต์แต่ละโรงกำหนดให้แค่ 3 เมกะวัตต์ จึงมีโครงการอย่างต่ำถึง 26 โครงการ ดังนั้น ถ้ามีคนเสนอขอขายไฟฟ้าน้อยก็ย่อมมีโอกาสได้รับเลือกสูง
ทั้งหมดก็เป็นเพียงการคาดเดากันไป ของจริงคงต้องรอลุ้นอีกแค่อึดใจ และหวังว่าโค้งสุดท้ายโครงการนี้จะไม่เจอโรคเลื่อนอะไรอีก และที่สำคัญจะไม่เดินซ้ำรอย SPP Hybrid Firm ที่แห่เข้ามายื่นล้นหลามแต่ของจริงลงนามได้แค่ 3 รายจนต้องขยายเวลาเอื้อให้แบบสุดๆ แต่ก็จบได้แค่ 10 รายเท่านั้นจากที่ได้รับคัดเลือกถึง 17 ราย
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ : 22 เม.ย. 2564