การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เสนอปรับแผนจัดหา LNG ใหม่ เป็นสัญญาระยะกลาง 5-7 ปี แทนแผนเดิมที่จะนำเข้ารวม 5.5 ล้านตัน ในปี2564-2566 โดยจะมีการพิจารณาแผนนำเข้าใหม่ในบอร์ดกฟผ.ภายในเดือน ส.ค.นี้
ทั้งนี้ในแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 นั้น มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 ปริมาณรวม 5.5 ล้านตัน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ในโรงไฟฟ้าบางปะกง, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าวังน้อย โดยแบ่งการนำเข้า LNG เป็น 3 ช่วงได้แก่ ปี 2564 นำเข้าไม่เกิน 1.9 ล้านตัน, ปี 2565ไม่เกิน 1.8 ล้านตัน และปี 2566 นำเข้าไม่เกิน 1.8 ล้านตัน แต่เนื่องจาก กฟผ. เห็นว่าแผนดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแผนที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2562 จึงต้องนำเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขใหม่
โดย นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย 2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด แนวทาง ตลอดจนหลักเกณฑ์การนำเข้าให้แล้วเสร็จและเสนอ กพช. ภายใน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 นั้น ทำให้ กฟผ.ต้องศึกษาแผนการนำเข้า LNG.ใหม่ให้สอดคล้อง โดยในแผนที่ปรับใหม่จะเป็นการจัดหาก๊าซ LNG ในสัญญาระยะกลาง 5-7 ปี ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอขออนุมัติจากบอร์ด กฟผ. ได้ประมาณเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2564 นี้ เพื่อให้เริ่มนำเข้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
ทั้งนี้รูปแบบการจัดหา LNG ของ กฟผ.เพื่อให้เกิดความมั่นคงและไม่กระทบต่อภาระ Take or pay ในสัญญาที่ทำไว้กับ ปตท.
ในเบื้องต้นคาดว่าในปี 2564 จะนำเข้า LNG จำนวน 3 แสนตัน เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เพราะเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำเข้า LNG มาใช้ได้จริงประมาณไตรมาส 4 ของปี 2564 เพราะต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาหลักเกณฑ์การนำเข้า LNG สำหรับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ ตาม มติ กพช. ให้แล้วเสร็จก่อน
สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะนำเข้าได้ประมาณ 1.3 ล้านตัน เพื่อนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเช่นกัน
โดยคาดว่าจะใช้เงินสำหรับการนำเข้า LNG ระยะ 5-7 ปี ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณในการจัดซื้อ LNG จะต้องขออนุมัติวงเงินจากบอร์ด กฟผ.ด้วย
นางราณี กล่าวว่า กฟผ.จะมีการ หารือกับ กกพ. เพื่อขอความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงแผนการนำเข้าก๊าซ LNG ดังกล่าวว่าจะเหมาะสมกับระยะเวลา,ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ และความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศหรือไม่
โดยที่ผ่านมากำหนดการหารือเดิมได้ถูกเลื่อนออกไป เพราะปัญหาสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 21 เม.ย. 2564