ปัจจุบันกระแสการตื่นตัวกับสภาวะโลกร้อน ที่ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มใช้มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ให้ความสนใจในพลังงานสะอาดและระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อคู่ค้า และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย
จากการศึกษาข้อมูลผู้ให้บริการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์จากสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย มีจำนวน 128 ราย แบ่งเป็น สมาชิกประเภทสามัญ 91 ราย และวิสามัญ 37 ราย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
หากท่านใดสนใจที่จะลงทุนติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ควรพิจารณาข้อมูล ดังนี้
1. ควรเลือกบริษัทที่มีแผงโซลาร์เซลล์คุณภาพดี
ในปี 2014 มีการวัดระดับคุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์ โดย Bloomberg PV Module Maker Tiering System ได้จัดอันดับคุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1.1 Tier-1 Solar Panel คือ แผงที่สร้างจากบริษัทที่มีโรงงานเป็นของตัวเอง มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ไม่มีปัญหาในทางการเงินในรอบ 2 ปี และมีโครงการอ้างอิง 5 โครงการขึ้นไป
1.2 Tier-2 Solar Panel คือ แผงที่สร้างจากบริษัทที่มีโครงการอ้างอิงและมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง
1.3 Tier-3 Solar Panel คือ แผงที่สร้างจากบริษัทที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่แนะนำให้ใช้บริการ
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมของการจัดอันดับแผงของ Bloomberg ได้ที่ http://about.bnef.com/content/uploads/sites/4/2012/12/bnef_2012-12-03_PVModuleTiering.pdf
2. การรับประกัน
โดยปกติแล้วผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จะมีมาตรฐานในการรับรองสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่การรับประกันอะไหล่ การเปลี่ยนอะไหล่ จะอยู่ที่การรับประกัน 2-3 ปี
2.1 การรับประกันแผงโซลาร์เซลล์ จะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี
2.2 การรับประกันแผงโซลาร์เซลล์ ตามมาตรฐานจะอยู่ที่รับประกันมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป สามารถใช้เครื่องมือวัดทดสอบได้ โดยมีแนวทางการตรวจวัดและพิสูจน์ผลตามมาตรฐานสากล ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaiesco.org/file/download/41/M&V_Guideline_2558.pdf
3. มาตรฐานการติดตั้งใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Renewable Energy Guidelines on Solar PV Rooftop Implementation)
3.1 การติดตั้งแผงเซลล์ฯ ควรให้ด้านรับแสงอาทิตย์ของแผงเซลล์ฯ หันไปทางทิศใต้ หรือทิศใกล้เคียงทิศใต้ที่สามารถยอมรับได้ และวางเอียงทำมุมกับแนวระนาบทิศเหนือ-ใต้ ประมาณ 10-20 องศา ตำแหน่งการติดตั้งควรอยู่ในพื้นที่โล่งและไม่เกิดการบังเงาบนแผงเซลล์ฯ ที่อาจก่อให้เกิด Hot spot การติดตั้งควรมีความมั่นคง แข็งแรงและสามารถดูแลบำรุงรักษาได้
3.2 การต่อวงจรชุดแผงเซลล์ฯควรเป็นไปตามหลักวิชาการและให้มีการป้องกันเพื่อความ ปลอดภัยที่ดี โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. 2572 การติดตั้งทางไฟฟ้า–ระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ หรือตามมาตรฐาน IEC 60364-7-712 Requirements for special installations or locations – Solar photovoltaic (PV) power supply systems หรือตามคู่มือแนะนำการติดตั้งแผงเซลล์ฯ ของผู้ผลิต (ถ้ามี)
3.3 ชุดแผงเซลล์ฯ และอุปกรณ์ของระบบฯ ทุกรายการที่มีโครงสร้างเป็นโลหะและหรืออุปกรณ์ ที่ระบุให้มีการต่อสายดินจะต้องต่อวงจรสายดินให้ครบถ้วน โดยให้ดำเนินการตามหลักวิชาการ หรือ อ้างอิงตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2545 (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2551) ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
3.4 การกำหนดขนาดสายไฟฟ้า ต้องมีพิกัดทนกระแสไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 1.25 เท่าของกระแส สูงสุดผ่านวงจรและมีค่าแรงดันสูญเสียในสายไฟฟ้า (Voltage drop) ไม่เกินข้อกำหนด
3.5 มีการรับประกันคุณภาพการใช้งานระบบ Solar PV Rooftop หลังจากวันส่งมอบระบบที่ติดตั้งและทดสอบการทำงานจริงแล้วเสร็จ โดยระบุในสัญญาและมีการรับผิดชอบชดเชยส่วนต่างในกรณีที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาอย่างชัดเจน
3.6 หากจะติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นหลักส่วนที่เหลือจึงจะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย แนบท้ายประกาศ 3 https://iie.fti.or.th/?p=8018
4. ระบบโซล่าเซลล์
การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ
4.1 ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ (PV stand-alone system)
เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการออกแบบสำหรับใช้งานในพื้นที่ชนบทที่ไม่มีระบบสายส่งไฟฟ้า อุปกรณ์ของระบบที่สำคัญประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต่อใช้งานตรงกับโหลดไฟฟ้ากระแสตรง และอีกรูปแบบหนึ่งคือนำมาต่อให้ได้แรงดันตามความต้องการของอุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ (Solar charge controller) ถ้ากำลังไฟฟ้าเหลือก็สามารถนำไปชาร์ตเข้าแบตเตอรี่
4.2 ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PV grid connected system)
เป็นระบบผลิตไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าเข้าถึง อุปกรณ์ของระบบที่สำคัญ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งนำมาต่อให้ได้แรงดันตามความต้องการของอินเวอร์เตอร์ โดยต่อผ่านกล่องต่อสายและเบรกเกอร์ไฟฟ้ากระแสตรงและกำลังไฟฟ้าตามที่ต้องการใช้งานของโหลด ซึ่งแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้สามารถนำไปใช้งานได้โดยตรงโดยการต่อกับโหลดไฟฟ้ากระแสตรง หรือแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งสามารถนำไปใช้กับโหลดไฟฟ้ากระแสสลับและในขณะเดียวกัน
4.3 ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสาน (PV Hybrid system)
ระบบผลิตไฟฟ้าที่ถูกออกแบบสำหรับผลิตไฟฟ้าร่วมกับอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ อุปกรณ์ของระบบ ที่สำคัญประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งนำมาต่อให้ได้แรงดันตามความต้องการของอุปกรณ์แปลงผันพลังงาน แบบผสมผสาน (Hybridge inverter) โดยสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กังหันลมผลิตไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้อาจจะนำไปใช้กับซึ่งสามารถนำไปใช้กับโหลดไฟฟ้ากระแสสลับ และในขณะเดียวกันก็สามารถต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://webkc.dede.go.th/testmax/sites/default/files/คู่มือ%20การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์%20BLN_0.pdf
5. ปัญหาที่พบจากการติดตั้งและใช้งานของระบบโซล่าเซลล์
5.1 ไม่มีการชาร์จประจุจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์
5.2 สถานการณ์ชาร์จของแบตเตอรี่ต่ำ
5.3 อินเวอร์เตอร์ไม่ทำงาน ชาร์จคอนโทรลไม่ทำงาน
5.4 ชาร์จเจอร์เสียหายหรือชอร์ต
5.5 อะไหล่ที่ผิดปกติ อย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ขอบอลูมิเนียม, กระจก, สีของเซลล์, พลาสติกปิดหลังแผง
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://webkc.dede.go.th/testmax/sites/default/files/คู่มือ%20การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์%20BLN_0.pdf
บทความ : ลักขณา ธิติธำรงชัย สถาบันพลังงานฯ