รัฐหมดแรงเข็นมาตรการช่วยลดค่าไฟประชาชน ช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 หลังเทหมดหน้าตักช่วยไปตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงระลอกสอง
ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นระลอกที่ 3 โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุเกิน 1, 500 คนต่อวันและรัฐบาลมีคำสั่งให้หน่วยงานราชการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home ในส่วนของกระทรวงพลังงานมีข้าราชการมาปฏิบัติหน้าที่ 20% ส่วนอีก 80% ให้ทำงานอยู่ที่บ้าน ) และขอความร่วมมือภาคเอกชน อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ อีกครั้ง ไปจนถึง 30 เม.ย. 2564 นี้ เพื่อหวังหยุดตัวเลขการแพร่เชื้อที่ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,582 คนแล้วนั้น ในแง่ของมาตรการช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ ยังไม่ได้มีเพิ่มเติม เนื่องจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว
โดยในรอบแรกนั้นภาครัฐ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ใช้แนวทางการบริหารจัดการเงินช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2563 ไปแล้วประมาณ 26,612 ล้านบาท โดยเป็นเงิน Claw Back หรือ “เงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผน” มาจ่ายทั้งหมด
ขณะที่การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 รัฐใช้แนวทางบริหารค่าไฟฟ้าเป็นเงินอีกประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงิน Claw Back ประมาณ 3,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณของรัฐบาลเอง
โดย แหล่งข่าวในสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า ขณะนี้เงิน Claw Back ได้หมดลงแล้ว ซึ่งส่วนที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ได้นำไปคำนวณไว้สำหรับตรึงค่าไฟฟ้าให้ประชาชนจนถึงสิ้นปี 2564 นี้เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นหากนำเงินดังกล่าวมาใช้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าอีกจะส่งผลให้ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอยู่ดี เนื่องจากขณะนี้ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูงอยู่ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นช่วงปลายปี 2564 อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กกพ.พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้การช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่หากต้องใช้มาตรการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอีกครั้ง จำเป็นที่รัฐบาลต้องส่งเงินมาสนับสนุนมาตรการดังกล่าวแทน เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดปี 2564 นี้
สำหรับมาตรการที่นำมาใช้ลดภาระด้านพลังงานให้ประชาชนนั้น ในครั้งแรกรัฐบาลได้ออกหลากหลายมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า, การลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน 3% ทุกราย , ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย, ลดค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.2563 และมาตรการลดค่า Minimum Charge หรือการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำสุดกับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและโรงแรม ซึ่งมีการต่ออายุมาตรการและสิ้นสุดไปเมื่อ มี.ค. 2564 ที่ผานมา โดยมาตรการทั้งหมดรวมเป็นเงินที่นำมาใช้ทั้งสิ้นประมาณ 26,612 ล้านบาท
ส่วนในครั้งที่ 2 มีเพียงมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ระหว่างเดือน ก.พ. –มี.ค. 2564 ที่เพิ่งจะผ่านมา รวมเป็นเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การให้ใช้ไฟฟ้าฟรี สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย และกิจการขนาดเล็กที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย ,การลดค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไข โดยใช้ค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค. 2564 เป็นเดือนฐาน เป็นต้น
ทั้งนี้มาตรการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวที่ใช้มาตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบที่ 1 และ 2 ได้สิ้นสุดระยะเวลาลงทั้งหมดแล้ว และขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆจากภาครัฐในการออกมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าประชาชนอีก
ที่มา: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
วันที่ : 16 เม.ย. 2564