การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เผยความต้องการใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลกระทบต่อกำไรขององค์กร ที่เคยมีประมาณ 11,000 ล้านบาท เหลือเพียง 3,800 ล้านบาทในปี 2563 โดยระบุพีคไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี64 ยังต่ำกว่าปี62 ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งกรณีลูกค้าย้ายฐานการผลิตไปต่างจังหวัด, เอกชนผลิตไฟฟ้าป้อนลูกค้าอุตสาหกรรมเอง และปัญหาไวรัสโควิด-19
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล(นนทบุรี และสมุทรปราการ) ในเขตบริการของ กฟน. ว่า คาดว่ายอดใช้ไฟฟ้าในปี2564 นี้จะสูงขึ้นประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ยอดใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 5% เนื่องจากโรงงานเริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
อย่างไรก็ตามยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2564 อยู่ที่ 8,998.87 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าพีคไฟฟ้าเมื่อปี 2562 ที่อยู่ระดับ 9,525.93 เมกะวัตต์
โดยจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ยอดใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลกระทบให้กำไรของการไฟฟ้านครหลวงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2559 กฟน. มีกำไร 11,000 ล้านบาท แต่ในปี 2563 กำไรเหลือเพียง 3,800 ล้านบาท เท่านั้น (ลดลงจากปี59ประมาณ 7,200 ล้านบาท)เนื่องจากที่ผ่านมาโรงงานหลายแห่งย้ายฐานการผลิตไปต่างจังหวัด ขณะที่ลูกค้าอุตสาหกรรมหันไปซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายอื่น รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และการ Disruptive Technology
ดังนั้น กฟน.จึงเตรียมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยจะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ภายใต้ชื่อ MEA Smart Energy Solutions ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 22 มี.ค. 2564