ข้อมูล สนพ.สะท้อนราคาSpot LNG มีความผันผวนสูงจากเคยทะลุเกิน 500 บาทต่อล้านบีทียูในเดือนมกราคม ลดลงมาเหลือประมาณ 174 บาทต่อล้านบีทียูในช่วงต้นเดือน มีนาคม 2564 ในขณะที่ ราคาก๊าซธรรมชาติ( Pool) เฉลี่ยเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ประมาณ 186 บาทต่อล้านบีทียู
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยข้อมูลราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool ) เดือนมกราคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ประมาณ 2.48 บาท/ล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 186.86 บาท/ล้านบีทียู เนื่องจากราคาก๊าซฯ จากสัญญา LNG ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน
ส่วน ราคา Spot LNG เฉลี่ยเดือนมกราคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ประมาณ 6.04 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 16.91 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ( กรณีใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาท ต่อ1 เหรียญสหรัฐ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 523 บาทต่อล้านบีทียู) จากความต้องการ LNG สำหรับฤดูหนาวและการขนส่ง LNG ผ่านช่องแคบปานามาประสบปัญหาการจราจรติดขัด
ส่วนการติดตามสถานการณ์ ราคา Spot LNG เฉลี่ยช่วงวันที่ 1 – 5 มีนาคม 2564 นั้นปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 5.62 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ( กรณีใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาท ต่อ1 เหรียญสหรัฐ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 174 บาทต่อล้านบีทียู)
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่าข้อมูลราคาก๊าซจาก สนพ. สะท้อนให้เห็นถึงราคา Spot LNG ที่มีความผันผวนสูงในช่วง2-3 เดือนแรกของปี2564 ที่ราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม มีความแตกต่างกันกับราคาสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมมากเกือบ 350 บาทต่อล้านบีทียู โดยเมื่อเปรียบเทียบกับราคาก๊าซพูล (เป็นราคาเฉลี่ยก๊าซจากอ่าวไทย + ก๊าซจากเมียนมา + ก๊าซLNG สัญญาระยะยาว) ที่ใช้คำนวณในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที จะพบว่ามีทั้งช่วงที่ราคาSpot LNGสูงกว่ามาก และต่ำกว่าเล็กน้อย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มในอนาคตที่จะมีการใช้ LNG ในปริมาณมากขึ้นและมีราคาสูงกว่าก๊าซพูล ผู้ใช้ไฟฟ้าก็ต้องเตรียมที่จะแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น เพราะประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้า
(*Spot LNG คือ การซื้อขาย Liquefied Natural Gas หรือ LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ โดยราคาซื้อขายจะอ้างอิงกับราคา LNG ในตลาดตามช่วงเวลานั้นๆ)
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 16 มี.ค. 2564