กฟผ. เปิดตัวธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” 4 ผลิตภัณฑ์และบริการหลักด้าน EV หวังสร้างสังคมแห่งการเดินทางยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมจับมือ 6 ค่ายรถยนต์ชั้นนำระดับโลกได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche สนับสนุนในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
วันนี้ (11 มีนาคม 2564) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัวธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform Co Creation for Electric Vehicles Project ระหว่าง กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย และเพื่อสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการแสดงวิสัยทัศน์จากทั้ง 6 บริษัท เกี่ยวกับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงทิศทางความร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อรองรับเทคโนโลยีและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้า คือ เทรนด์และเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก โดยพบว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2553 – 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากแรงผลักดันที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านโลก จากเดิมที่เต็มไปด้วยรถยนต์สันดาปภายใน กลายเป็นโลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลขึ้น พร้อมทั้งมีต้นทุนที่ลดลงด้วย และเทคโนโลยี AI Machine Learning ที่ทำให้ยานยนต์ก้าวเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นมากกว่าแค่พาหนะ 2.ปัญหามลพิษทางอากาศ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษต่าง ๆ ทั้งก๊าซเรือนกระจก ฝุ่นละออง PM2.5 อันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น และ 3.นโยบายของนานาประเทศ ที่เห็นตรงกันถึงความสำคัญและความจำเป็นของการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
เดิมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายปี 2573 จะมีการผลิตรถ EV 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดหรือคิดเป็นประมาณ 750,000 คัน ซึ่งการประชุมบอร์ดEVเร็วๆนี้ก็จะต้องมาดูว่าเราจะมีการปรับหรือไม่อย่างไร ซึ่งกรณีที่เอกชนเสนอให้เป็น 50% ก็อาจจะมีความเป็นไปได้เพราะขณะนี้รถ EVเริ่มมาเร็ว นายกุลิศกล่าว
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. พร้อมสร้างการเปลี่ยนผ่านให้แก่ภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ในฐานะของผู้ให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่สำคัญ นับเป็นโอกาสอันดีที่ กฟผ. จะได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขให้แก่คนไทยมากยิ่งขึ้น ด้วยธุรกิจใหม่ของ กฟผ. “EGAT EV Business Solutions”
โดยสำหรับธุรกิจนี้ กฟผ. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. จะเป็นผู้ช่วยและเป็นผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคตและร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้ธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ประกอบด้วย
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ปลอดภัย มั่นใจ เพื่อรองรับทุกการเดินทางของผู้ใช้ยานยนต์ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 โดยเน้นขยายสถานีไปตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ
- Mobile Application Platform “EleXA” ที่เสมือนเป็นผู้ช่วย เพิ่มความสะดวกสบายในทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้สามารถเชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเครือข่าย
- ตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ใช้งานรถ EV โดย EGAT Wallbox เป็น Home Charger ที่เล็กกะทัดรัด สวยงาม โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ในการเป็นผู้ดูแลให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาให้แก่ลูกค้าโดยตรง และในปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้า EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 kW ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้ออกใช้งานในเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้
- ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform” ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีเสถียรภาพ และมั่นคง ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาตรฐานและระบบวิเคราะห์ทางเทคนิคที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.
ผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดนี้ พร้อมให้บริการประชาชนทุกคนในปี 2564 นี้อย่างแน่นอน โดย กฟผ. พร้อมเปิดรับพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.elexaev.com
เราไม่ใช่เจ้าเดียวที่ทำเรื่องพวกนี้ แต่หวังว่าในอนาคตจะเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันทั้งประเทศรองรับ EV แบตเตอรี่ พลังงานสะอาดและนวัตกรรมทางไฟฟ้าที่จะเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับทุกคนในปี 2564 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กฟผ.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีพันธมิตรที่จะเติบโตไปด้วยกัน ซึ่ง กฟผ.ยินดีเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดินเข้ามาร่วมติดตั้งปั๊มชาร์จได้
นายบุญญนิตย์
ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยด้วยว่า ล่าสุด กฟผ.ได้จับมือกับ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี่ หรือ PTG ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยจะเปิดนำร่องที่สถานีบริการน้ำมัน PT สาขาปากช่อง 3 จ.นครราชสีมา และยังเปิดรับพันธมิตรทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อน EV โดย กฟผ. กำหนดแผนจะมีจุดชาร์จรวม 35 แห่งในปี 2564 นี้ จากปัจจุบันมี 13 จุด ซึ่งรวมแล้วจะทำให้ กฟผ.มีจุดชาร์จรวม 48 แห่ง ในปีนี้
กฤษฎา ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อาวดี้ ประเทศไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงพลังงาน จับมือกับภาคเอกชน และ กฟผ. ทำให้ไทยก้าวสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเวลารวดเร็วขึ้น และ “ค่ายรถยนต์ Audi พร้อมร่วมสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่”
ด้าน Mr. Alexander Baraka President, BMW Group Thailand กล่าวว่า “ปัจจุบัน BMW มีปั๊มชาร์จโลโก้ Charge Now จำนวน 161 หัวจ่าย ซึ่ง BMW จะร่วมกับ กฟผ. ขยายปั๊มชาร์จรถ EV ให้มากขึ้น “การร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการวางรากฐานยานยนต์ไฟฟ้าให้แข็งแกร่งขึ้นและเป็นการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นทำให้ไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำลง”
Mr. Roland Folger President& CEO of Mercedes-Benz (Thailand) Limited กล่าวว่า “คณะกรรมการบริษัทฯยืนยันจะมุ่งวางกลยุทธ์สู่การเป็นรถ EV ในอนาคต ปัจจุบันได้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่เต็มรูปแบบสำหรับรถ EV ซึ่งจะเกิดการจ้างงานอีกมาก ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านยูโร และจะเพิ่มเรื่องการประกอบรถด้วย ปัจจุบันบริษัทฯมีรถปลั๊กอินไฮบริดอยู่ 2 หมื่นคัน”
ด้าน Mr. Zhang Haibo President of SAIC Motor-CP Co., Ltd. And MG SALES (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า “ไทยมีศักยภาพเป็นตลาดหลักรถยนต์ EV จากผู้เล่น 3 ส่วน ได้แก่ ค่ายผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ผลิตปั๊มชาร์จรถ EV และภาครัฐที่กำหนดนโยบายสนับสนุนผลักดันให้เกิดรถ EV ผ่านหน่วยงาน กฟผ. ที่มีเจตนามุ่งเน้นที่ดีที่ทำให้ไทยเป็นตลาดหลักรถยนต์ EV ได้”
Mr. Ramesh Narasimhan President Nissan Motor Thailand Co.,Ltd. กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการผลักดันการใช้รถ EV แต่อุปสรรคที่สำคัญคือ คนกลัวไฟฟ้าในรถ EV จะหมดก่อนถึงจุดชาร์จ และกังวลว่าสถานีชาร์จะมีเพียงพอหรือไม่ ซึ่ง 2 สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจต่อการปรับพฤติกรรมผู้ใช้รถ “ดังนั้นโครงการนี้ จะช่วยรับมืออุปสรรคดังกล่าวได้ และการร่วมมือนี้จะช่วยจัดการกับปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน”
Mr. Peter Rohwer Managing Director of Porsche Thailand AAS Auto Service แสดงความคิดเห็นว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้รถ EV ในประเทศไทยจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการปรับปรุงด้านเทคนิค เช่น ระยะเวลาการชาร์จต้องเร็วขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานต้องมีความหลากหลายรองรับรถ EV อย่างไรก็ตาม “การที่บริษัทฯ ได้มาร่วมมือกับ กฟผ.ครั้งนี้ ถือเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจกับผู้ใช้รถ EV ในไทยมากขึ้น”
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 11 มี.ค. 2564