ปตท.ลุยธุรกิจไฟฟ้ารองรับทิศทางวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคที่เข้าสู่ระบบธุรกรรมเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนน้ำมันมากขึ้น โดยตั้งเป้าอีก 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ 16,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล 8,000 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทนอีก 8,000 เมกะวัตต์
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนวันนี้ (23 ก.พ.2564) ว่า ปตท.ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงให้ได้ 8 กิกะวัตต์ หรือเท่ากับ 8,000 เมกะวัตต์ (1 กิกะวัตต์ เท่ากับ 1,000 เมกะวัตต์) และขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ได้ อีก 8 กิกะวัตต์ รวม 16,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
โดยมองว่าทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตจะมุ่งไปสู่ไฟฟ้ามากกว่าน้ำมันซึ่งวิถีชีวิตใหม่ที่หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัลหรือ คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ที่จะเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นมาก โดยบางเคอร์เรนซีใช้ไฟฟ้ารวมกันมากกว่าการใช้ไฟฟ้าของบางประเทศเสียอีก
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ปตท.ได้เข้าไปซื้อหุ้น 50% ของบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการลงทุนธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 23 ก.พ. 2564