รัฐโยนประชาชนรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นกรณีการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณไม่ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานวันที่ 23 เม.ย. 2565 โดยจนถึงขณะนี้ ปตท.สผ.ในฐานะโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณเพื่อติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มเติมรักษาระดับการผลิตก๊าซได้ตามแผน แนะทางออกรัฐเจรจาเพิ่มปริมาณก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทยมาเลเซียหรือเจดีเอ จากมาเลเซีย แทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ทดแทนทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า การที่ประชาชนจะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นเนื่องมาจากโรงไฟฟ้าในประเทศ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 60% ในขณะที่ต้นทุนของเชื้อเพลิง คิดเป็นประมาณ 70% ของต้นทุนค่าไฟฟ้า ดังนั้น หากการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ที่ปัจจุบันมีปริมาณ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่ส่งป้อนโรงไฟฟ้า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน วันที่ 23 เม.ย. 2565 จะทำให้รัฐต้องมีนโยบายให้จัดหาเชื้อเพลิงอื่นๆทดแทน คือ LNG ซึ่งหากมีราคาที่สูงกว่าก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ในส่วนที่เป็นต้นทุนผันแปร หรือที่เรียกว่าค่าเอฟที ในขณะเดียวกันรัฐยังเสียโอกาสที่จะได้รับรายได้จากค่าภาคหลวง ด้วย ทั้งนี้มีข้อแนะนำจากอดีตผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ให้รัฐเจรจากับทางมาเลเซีย เพื่อขอรับปริมาณก๊าซจากแหล่งเจดีเอ ในสัดส่วนของมาเลเซีย เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ต่ำกว่า LNG นำเข้า ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้บางส่วน
ปัจจุบันแหล่งผลิตปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ ที่ดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะที่เป็นโอเปอเรเตอร์ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และมีผู้ชนะประมูลรายใหม่ เข้ามาเป็นโอเปอเรเตอร์ภายใต้ระบบใหม่คือระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มารับช่วงต่อนั้น ตามเงื่อนไขการประมูลที่ตกลงไว้กับรัฐ จะต้องผลิตก๊าซในแหล่งดังกล่าวในปริมาณขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดย ปตท.สผ. มีการเตรียมที่จะเข้าพื้นที่แหล่งผลิตเอราวัณ เพื่อติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม ล่วงหน้า ที่จะต้องเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2563 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะเข้าพื้นที่ได้ตามแผน เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเดิมคือ เชฟรอน ให้เหตุผลว่า ต้องได้รับการอนุมัติแผนการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมขั้นสุดท้าย จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเสียก่อน ทั้งนี้หากการเจรจาเพื่อเข้าพื้นที่ ของปตท.สผ. มีความล่าช้าไปมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตก๊าซในช่วงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยยังไม่สามารถระบุระยะเวลาและปริมาณที่ชัดเจนได้ว่าจะต้องใช้ LNG นำเข้าเพื่อ ทดแทน ก๊าซจากแหล่งเอราวัณในปริมาณเท่าไหร่ และเป็นระยะเวลานานแค่ไหน รวมทั้งมีราคาที่สูงกว่าก๊าซจากแหล่งเอราวัณเท่าไหร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นของแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ จำนวน 191 แท่นนั้น มีจำนวน 142 แท่น ที่รัฐเลือกเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ต่อภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยประเมินว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับรายเดิมแล้ว ยังมีปริมาณปิโตรเลียมเหลืออยู่ ในจำนวนที่คุ้มค่า ซึ่งส่วนนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาตรวจสอบสภาพให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.-พ.ย. 2564 นี้ รวมทั้งจะมีการร่างสัญญาข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง ซอฟท์แวร์และข้อมูลการผลิตปิโตรเลียมของแท่นผลิตดังกล่าว ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เชฟรอน และ ปตท สผ. เป็นการล่วงหน้า เพื่อที่ปตท.สผ.จะสามารถรับช่วงการผลิตในวันที่สิ้นสุดสัญญาได้ต่อเนื่อง ส่วนจำนวนแท่นผลิตที่เหลืออีก 49 แท่นนั้น มีจำนวน 7 แท่นที่เชฟรอนดำเนินการรื้อถอนออกไป ตามที่ได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ ให้ไปทำปะการังเทียมแล้ว เหลืออีก 42 แท่น ยังรอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอนุมัติ แผนงานรื้อถอนขั้นสุดท้าย ที่เชฟรอนจะมีการวางหลักประกันการรื้อถอน จำนวนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตามในกฎกระทรวง กำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ระบุให้ผู้รับสัมปทานต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด ซึ่งหมายถึง เชฟรอน จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้ง 191 แท่น หรือคิดเป็นเงินที่ต้องวางหลักประกันประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ประเด็นดังกล่าว ถูกทางเชฟรอน ที่ สหรัฐอเมริกา ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ฟ้องต่อรัฐไทย เมื่อปี 2563 โดยที่กระทรวงพลังงานได้ขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี เพื่อจ้างทีมทนายความที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฏหมายระหว่างประเทศ ต่อสู้คดี ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุด
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 9 ก.พ. 2564