ความสำคัญและที่มาของโครงการ
การใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ โดยกำหนดราคาหรือต้นทุนในการบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Instruments: CPIs) เป็นเครื่องมือเชิงการบริหารจัดการที่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทสากล ทั้งจากการใช้ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการใช้กลไกการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading System: ETS) โดยใช้กลไกตลาดขับเคลื่อนให้เกิดแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนับเป็นมาตรการที่หลายประเทศให้การยอมรับว่าสามารถบริหารจัดการต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิผล (Cost Effectiveness) มากที่สุดมาตรการหนึ่ง โดยที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ศึกษาเกี่ยวกับกลไกราคาคาร์บอน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการรองรับระบบมาตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing: ICP) นับเป็นอีกหนึ่งในการใช้กลไกราคาคาร์บอนที่องค์กรธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ภายในองค์กรของตนเอง เพื่อทำให้เกิดการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และสร้างโอกาสในการลงทุนสีเขียวให้กับองค์กร (Green Finance)
ดังนั้น ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ อบก. จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกลไกสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเป็นทางเลือกในการสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อให้เกิดลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ด้านการลดปัญหาภาวะโลกร้อน และการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนชาติระยะ ๒๐ ปี และที่สำคัญยังสอดคล้องกับแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๙๓) เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงยุทธศาสตร์การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้าน ในประเด็นปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นย่อยที่ ๓.๓ การกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ให้ภาคเอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการและภาคีที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเตรียมความพร้อมให้แก่ทุกภาคส่วนในประเทศไทย ให้สามารถรองรับผลกระทบที่หน้า ๒
จะเกิดขึ้นทั้งจากมาตรการทางการค้า และข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมไทยขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
ระยะเวลาดำเนินโครงการ: พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ – สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (ICP) และการลงทุนสีเขียว (Green Finance)
๒. เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการนำกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (ICP) ไปใช้ภายในองค์กร รวมถึงการผลักดันเกิดการลงทุนสีเขียว (Green Finance) เพิ่มขึ้นในอนาคต
กลุ่มเป้าหมาย
องค์กรที่มีการใช้พลังงานงานหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูง รวมถึงองค์กรที่อาจได้รับผลกระทบจากการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมพลังงาน โลหะและอโลหะ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ความรู้ด้านการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (ICP) และการลงทุนสีเขียว (Green Finance)และเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (ICP) และการลงทุนสีเขียว (Green Finance) อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
๒. ส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการไปประยุกต์ใช้และดำเนินการจริงในบริษัทหรือองค์กร
วันที่ : 25 ม.ค. 2564