วันที่ 3 ธันวาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยระหว่างงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 หัวข้อ “Move Forwards to Smart Industry by ESCO” ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนสำหรับผู้ประกอบการ ว่า งานนี้สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน จัดงานนี้เพื่อกระตุ้น การลงทุนด้านพลังงาน มุ่งสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะแห่งอนาคต (Smart Industry) พร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน
“จากการลงทุนที่ผ่านมากว่า 20,00 ล้านบาทเชื่อว่าในอนาคตการจัดสรรงบประมาณภายใต้กองทุนในปี 2564 งบประมาณ 2,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน นวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมพลังงานได้เป็นอย่างดีได้”
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ จากปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนจัดหาพลังงานในระยะยาว อีกทั้งความสามารถในการจัดหาแหล่งพลังงานฟอสซิลเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ประเทศไทยจึงควรที่จะเร่งหันมาส่งเสริมในเรื่องของพลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดการพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิตไม่เหมือนเดิม ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานจนกลายเป็นวิถีความปกติใหม่ (New Normal) ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Big Data ตลอดจนการเชื่อมโยงอุปกรณ์และระบบต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นำไปสู่ Smart Industry อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการไทยจะก้าวไปข้างหน้าสู่ Smart Industry ได้นั้น ควรเร่งพัฒนาบุคลากรของเราให้สามารถจัดการกับ Disruptive Technology ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และเร่งเรียนรู้นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์ ด้านระบบอัตโนมัติ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และด้านเทคโนโลยีของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ตลอดจนปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลาง สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้า การผลิต การขาย และทางเลือกแหล่งพลังงานของตนเองได้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer)
ในงานสัมมนามีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน และมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบ ESCO, บริษัทจัดการพลังงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการให้บริการแก่ลูกค้า และธนาคารที่ให้การสนับสนุนธุรกิจบริษัทจัดการพลังงานดีเด่น มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “Move Forwards to Smart Industry by ESCO” โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการพลังงาน ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย
จากนั้น ในช่วงบ่ายมีการเสวนานำเสนอโครงการที่ประสบความสำเร็จในชื่อว่า “Success Cases of ESCO Projects” โดยสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล ESCO Project Awards และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมกับการรับมือในโลกยุค Disruption” โดย ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
งาน Thailand ESCO Fair มีบูธนิทรรศการจำนวนกว่า 40 บูธ เป็นบูธเกี่ยวกับด้านการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน อุปกรณ์เทคโนโลยี และสินเชื่อด้านพลังงาน ซึ่งมุ่งเน้นการนำเสนอให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ เปิดโอกาสให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
วันที่ : 3 ธ.ค. 2563