กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจัดเก็บรายได้จาก การประกอบกิจการปิโตรเลียมประจำปีงบประมาณ 2563 ( ต.ค. 2562 – ก.ย.2563) ลดลงกว่า 21.88% เมื่อเทียบกับการจัดเก็บรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 (ต.ค.2561-ก.ย.2562 ) หรือประมาณ 36,400 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกประเภททั่วโลก
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน มีการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ในปีงบประมาณ 2563 (เดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) จำนวนรวมทั้งสิ้น 129,932 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวง จำนวน 38,725 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ จำนวน 15 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จำนวน 12,903 ล้านบาท ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต จำนวน 7,050 ล้านบาท รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จำนวน 71,239 ล้านบาท
โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปี 2563 ลดลง 21.88% เมื่อเทียบกับการจัดเก็บรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
ทั้งนี้ ในช่วงปีงบประมาณ 2563 มีสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ โดยแบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 275.66 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
โดย การจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตปิโตรเลียมที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 และสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกประเภททั่วโลก
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานถึงข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ระบุถึงการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ในปีก่อนหน้านี้ คือปีงบประมาณ 2562 (เดือนตุลาคม 2561-กันยายน 2562) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับรายได้ ของปีงบประมาณ 2563 ( ต.ค. 2562 – ก.ย.2563) โดยพบว่า ปี 2562 มีการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมจำนวนรวมทั้งสิ้น 166,332 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2563 จัดเก็บได้จำนวน129,932 ล้านบาท หรือมีรายได้ ลดลงกว่า 36,400 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อแยกเป็นค่าภาคหลวง จะเห็นว่า ในปี งบประมาณ 2562 จัดเก็บได้จำนวน 45,555 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 ที่จัดเก็บได้จำนวน 38,725 ล้านบาท พบว่า รายได้จากค่าภาคหลวงลดลง 6,830 ล้านบาท
ในขณะที่เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในปีงบประมาณ2562 จัดเก็บได้ 1,151 ล้านบาท แต่ ในปี 2563 จัดเก็บได้เพียง 15 ล้านบาท หรือรายได้ลดลง 1,136 ล้านบาท
ส่วนรายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ปี 2562 จัดเก็บได้ จำนวน 12,688 ล้านบาท แต่ในปี 2563 จัดเก็บได้มากขึ้น เป็น 12,903 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 215 ล้านบาท
ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต ปี2562 มีจำนวน 7,758 ล้านบาท แต่ปี 2563 มีจำนวนที่ลดลงมาอยู่ที่ 7,050 ล้านบาท หรือลดลง 708 ล้านบาท
และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลังปี 2562 จัดเก็บได้ จำนวน 99,179 ล้านบาท แต่ปี 2563 จัดเก็บได้ 71,239 ล้านบาท หรือลดลง 21,940 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ ปี 2562 คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 274.73 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ส่วนปี 2563 คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 275.66 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.93 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 20 ต.ค. 2563