ปตท. เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 12,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 จากการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเคร่งครัด ส่วนผลประกอบการครึ่งปี ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันดิบ และความต้องการใช้น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พร้อมเดินหน้าธุรกิจสร้างความเติบโต หันปรับพอร์ตการลงทุนมุ่งธุรกิจที่มีอนาคตเติบโตสอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานระยะยาว ทั้ง LNG และพลังงานหมุนเวียน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทย ที่อยู่ในระยะผ่อนคลายขึ้น แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด จึงทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ทั้งปี คาดว่าจะไม่ปรับตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปตท. จึงได้วางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจัดตั้งศูนย์ PTT Group Vital Center เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงาน ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของไทย นำคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจกลับเข้าสู่การดำเนินงานในสภาวะปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด และยังคงนโยบายทางการเงินอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,053 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อย ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751 ล้านบาท จากในครึ่งแรกของปี 2562
ทั้งนี้ ในปี 2562 กลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้ให้รัฐทั้งในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้จำนวน 70,259 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2544-2562 นำส่งรายได้ให้รัฐทั้งในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้รวมประมาณ 9.6 แสนล้านบาท
ด้านทิศทางธุรกิจและแผนการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กลุ่ม ปตท. ได้ออกแบบธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจปัจจุบันและโอกาสธุรกิจใหม่ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานระยะยาวด้วยการขยายธุรกิจไปสู่การประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร เพื่อไปสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวของโลก ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการพลังงาน (Smart Energy Platform) และ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ร่วมกับพันธมิตร ได้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ แล้ว 2 แห่ง คือ ทรู ดิจิทัล พาร์ค และ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค รวมถึงมีแผนขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ ที่มีศักยภาพต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
“ปตท. จึงมุ่งเน้นการปรับวิถีการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยใช้หลักการ Upskill – Reskill – New skill สร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Inside-Out) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีควบคู่กับการปรับแนวคิด เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และจัดทีมงานสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจหลักเดิมและทีมงานที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ เสริมด้วย Outside-In เปิดกว้างทางความคิด รับเอาบริบททางสังคม เทคโนโลยี ตลาด และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมากำหนดรูปแบบธุรกิจ และสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าและพันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย และ SMEs ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศธุรกิจใหม่ (New Ecosystem) เพื่อร่วมกันส่งต่อคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่ม สู่มือผู้บริโภค”
นายอรรถพล กล่าว
ด้านการสนับสนุนการสู้ภัยโควิด-19 ปตท. ดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น ให้ส่วนลดราคา LPG แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี (NGV) ให้กับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และการสนับสนุนด้านงานวิจัยพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ป้องกันและเจลแอลกอฮอล์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการบริจาคเงินแก่โรงพยาบาล คิดเป็นมูลค่ารวม 861 ล้านบาท
อีกทั้ง ปตท. ยังได้เตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สังคมไทย ภายใต้แนวคิด “พลังพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน” โดยมุ่งเน้นการสร้างหรือเพิ่มรายได้ให้ชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ผ่าน “โครงการชุมชนยิ้มได้” ด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้าน ประกอบด้วย การสนับสนุนช่องทางประชาสัมพันธ์ สร้างการตลาดให้สินค้าชุมชน ผ่านสื่อต่างๆ ของกลุ่ม ปตท. เช่น Facebook Line Website www.ชุมชนยิ้มได้.com เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดแก่ชุมชน การกระตุ้นเศรษฐกิจ…ท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ ผ่านการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพชุมชนเครือข่าย ปตท. ด้วยการยกระดับการบริหารจัดการชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงนวัตวิถี เสริมทักษะ…สร้างอาชีพ รวบรวมและเผยแพร่ทักษะ ศักยภาพชุมชน ทั้งด้านเกษตรกรรม การแปรรูปสินค้า และพลังงาน
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 18 ส.ค. 2563