กฟผ. เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน โดยรวบรวมทุกข้อคิดเห็นหลังจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมั่นใจในมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่างๆ ชี้โครงการมีประโยชน์ต่อความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสาน
นายเอกรัฐ สมินทรปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 2562 และจัดรับฟังครั้งที่ 2 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่จังหวัดขอนแก่น โดยบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด (COT) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา และรับผิดชอบจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นถึงขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานฯ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมในทุกมิติ
โดยได้เปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่อำเภอน้ำพอง 4 ตำบลและอำเภออุบลรัตน์ 2 ตำบล รวมทั้งประชาชนทั่วไปร่วมประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม ครั้งที่ 1 จำนวน 1,017 คน และครั้งที่ 2 จำนวน 729 คน
สำหรับข้อห่วงกังวลที่ประชาชนให้ความสนใจ อาทิ ประเด็น เรื่องปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่มีปริมาณสำรองเพียงพอทำไมต้องมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองนั้น เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าหลักในปัจจุบันของภาคอีสานมาจากโรงไฟฟ้าน้ำพองที่กำลังจะหมดอายุและต้องปลดออกจากระบบในปี 2568 ส่งผลต่อความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) จึงได้กำหนดให้มีโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าของภาคอีสานและในภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้การมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะช่วยให้ระบบไฟฟ้าของ ภาคอีสานมีความมั่นคง ช่วยลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคเหนือและภาคกลางได้อีกด้วย
สำหรับประเด็น ข้อกังวลผลกระทบด้านคุณภาพอากาศนั้น กฟผ. จะมีการควบคุมมลสารที่ระบายออกทางปล่องให้เป็นไปตามค่าควบคุมและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ควบคุมการระบายทางอากาศไม่ให้เกินกว่าที่กำหนดในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และ จัดให้มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ปีละ 2 ครั้งๆละ 7 วันต่อเนื่อง ในพื้นที่ชุมชน จำนวน 4 สถานี
ส่วนเรื่อง การควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้านั้น กฟผ. คำนึงถึงการนำน้ำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยน้ำจากกระบวนการผลิตที่ผ่านการบำบัดแล้วจะรวบรวมส่งไปยังบ่อพักน้ำทิ้งของโครงการ เพื่อตรวจสอบคุณภาพก่อนนำไปใช้ประโยชน์ เช่น นำไปรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่โรงไฟฟ้า โดยไม่มีการระบายออกภายนอก สำหรับน้ำจาก หอหล่อเย็นจะรวบรวมลงสู่บ่อพักน้ำทิ้ง โดยมีระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแบบต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ค่าออกซิเจน ค่าความเป็นกรด-ด่าง ฯลฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
กฟผ.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเสมอมา โดยได้มีการกำหนดในมาตรการฯที่โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนต้องยึดถือปฏิบัติทั้งในส่วนของคณะกรรมการติดตามตรวจสอบในรูปแบบไตรภาคี ซึ่งต้องมีภาคประชาชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับการสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน รวมถึงประเด็นคำถาม ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม กฟผ.ได้ดำเนินการชี้แจง อธิบายในประเด็นข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของชุมชน โดยติดประกาศให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในส่วนงานราชการและชุมชนทั้งในอำเภอน้ำพองและอำเภออุบลรัตน์ จำนวน 2 ช่องทาง คือ นำส่งจดหมายแก่หน่วยงานราชการและผู้นำชุมชนในพื้นที่ จำนวน 150 ฉบับ และ ติดประกาศสรุปผลการรับฟังฯตามหน่วยงานในพื้นที่และที่ทำการผู้นำชุมชน จำนวน 40 แห่ง โดยดำเนินการระหว่างวันที่ 7-14 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยผู้สนใจสามารถดูรายละอียดคำชี้แจงฯได้จากเว็ปไซต์ กฟผ. www.egat.co.th และ เว็ปไซต์ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด www.cot.co.th
หลังจากนี้ บริษัทจะสรุปผลการประชุมรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งหมดจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาจัดทำรายงานฯ ฉบับสมบูรณ์ที่กำหนดมาตรการแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด หลังจากนั้นจะนำส่งรายงานฯ ฉบับสมบูรณ์ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไป
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 14 ส.ค. 2563