หลังการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน กฟผ.เดินหน้าลงทุนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit ) หรือ FSRU สำหรับป้อนเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี ตามแผน โดยจะนำเสนอให้บอร์ดกฟผ.พิจารณาอนุมัติการลงทุนในเร็วๆนี้ ในขณะที่ เอกชนที่เป็น Shipper รายใหม่ มีลุ้นที่จะได้เป็นผู้จัดหาก๊าซป้อนโครงการดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับมติ กพช.
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า จากกรณีที่ กฟผ.มีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ สัญญา Global DCQ กับปตท. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมาเพื่อให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าของกฟผ.(รวมโรงไฟฟ้าพระนครใต้) เป็นระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.2563 และมีการเตรียมที่จะเสนอเรื่องเข้า กพช. เพื่อให้ยกเลิกมติ กพช.ปี 2559 ที่ให้กฟผ.ดำเนินการลงทุนในโครงการ สร้าง FSRU สำหรับป้อนเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ที่จะแล้วเสร็จในปี 2567 นั้น ล่าสุด หลังจากที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2563 ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมติ กพช. ทางกฟผ.ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวตามมติ กพช.เดิม
โดยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การดำเนินการลงทุนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit ) หรือ FSRU สำหรับป้อนเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี ยังคงเป็นไปตามมติ กพช. เมื่อปี 2559 โดยจะมีการนำเสนอให้บอร์ด กฟผ. พิจารณาอนุมัติการลงทุนในเร็วๆนี้ เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จภายในปี 2567 รองรับโรงไฟฟ้าพระนครใต้โรงใหม่ทดแทนโรงเดิมที่จะเข้าสู่ระบบตามแผนพีดีพี 2018
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ FSRU เพื่อป้อนเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้นั้น มติ กพช. เมื่อปี 2559 ให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ลงทุน และเป็นเจ้าของ ซึ่งมีการขยายปริมาณการรองรับ LNG จาก 3 ล้านตันต่อปี เป็น 5 ล้านตันต่อปี โดยที่จะไม่กระทบกับ การที่กฟผ.ไปลงนามสัญญา Global DCQ กับปตท. ก่อนหน้านี้
ส่วนการจัดหา LNG เข้ามาและเช่าใช้ FSRU ที่กฟผ.ลงทุนและเป็นเจ้าของนั้น จะต้องรอนโยบาย ตามมติ กพช.เป็นผู้กำหนด
สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีโครงการ FSRU เพื่อป้อนเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้นั้น จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดความเสี่ยงจากการที่มีคลัง LNG ไปกระจุกตัวอยู่ที่ มาบตาพุด ภาคตะวันออก รวมทั้งจะเป็นคนละส่วนกับ
โครงการ LNG Receiving Facilities ป้อนโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่กฟผ.มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษาร่วมกับ ปตท.เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานเพิ่มเติมว่า การจัดหาเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยเช่าใช้ FSRU ของกฟผ.นั้น หากนโยบายโดยรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ให้มีการเดินหน้าเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ ตามมติกพช.เมื่อ 31 ก.ค. 2560 จะทำให้ เอกชนรายใหม่ ที่เป็น shipper ทั้ง กัลฟ์ฯ , บี.กริม , หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง มีโอกาสที่จะได้ร่วมแข่งขันจัดหาก๊าซดังกล่าวด้วย นอกเหนือจาก กฟผ.และ ปตท.
สำหรับโครงการ FSRU โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ขนาดปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี แห่งนี้ กฟผ.มีการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 24,500 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment หรือ EIA) รวมทั้งจัดงานด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ชี้แจงรายละเอียดแก่หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีการกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนจัดเตรียมเอกสาร(Terms of Reference : TOR) เอาไว้พร้อมแล้ว โดยตามแผนกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 ในขณะที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้โรงใหม่ทดแทนโรงเดิมที่จะปลดระวางออกไป ตามแผนพีดีพี 2018 มีกำหนดจะเข้าระบบปี 2569 จำนวน 700 เมกะวัตต์ และ ปี 2570 อีก 1,400 เมกะวัตต์
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 21 ก.ค. 2563