คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบกฎกระทรวงแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (SC) แล้ว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 กำหนดให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องมี 3 ระบบ ทั้ง สัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) และSC หลังการดำเนินการล่าช้ามากว่า 1 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีแปลงปิโตรเลียมใดเข้าเกณฑ์ใช้ระบบ SC เหตุต้องเป็นแปลงที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูง โดยมีน้ำมันตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และก๊าซธรรมชาติ มากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่14 ก.ค.2563 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ….ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแล้ว ซึ่งกฎกระทรวงสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (Service Contract : SC) ดังกล่าวประกอบด้วย 23 หัวข้อ เช่น ค่าจ้างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการจ่ายค่าจ้าง ,การจัดการผลผลิตน้ามันดิบเมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ,การจัดการผลผลิตก๊าซธรรมชาติเมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ,การชำระ เงินของผู้รับสัญญา, การจัดหาสินค้าและบริการ, ผลประโยชน์พิเศษ และค่าภาคหลวง เป็นต้น
นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบเหตุผลที่กระทรวงพลังงาน ไม่สามารถดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงสัญญา SC นี้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากในปี 2560 – 2561 มีการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงที่จะสิ้นอายุสัมปทานในทะเลอ่าวไทย ตามประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 ก่อน เพื่อให้ทันเวลาต่อการเปิดให้สิทธิสารวจและผลิตปิโตรเลียม จึงทำให้การออกกฎกระทรวงสัญญา SC ต้องมาดำเนินการในภายหลัง
สำหรับระบบสัญญา SC สามารถใช้ได้นับตั้งแต่มีการออก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นำระบบ PSC และ SC มาใช้เพิ่มเติมจากเดิมที่ไทยมีเพียงระบบสัมปทานปิโตรเลียมเท่านั้น แต่การจะนำระบบ PSC และ SC มาใช้ได้ ต้องมีกฎกระทรวงกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำหนดกฎกระทรวงระบบสัญญา PSC แล้วและนำมาใช้กับการขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งที่หมดอายุ คือ เอราวัณและบงกช ส่วนกฎกระทรวงระบบสัญญา SC เพิ่งจะผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อ 14 ก.ค.2563 นี้
ดังนั้นระบบสัญญา SC จึงเป็นการทำเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ต้องมีสัญญาทั้ง 3 ประเภท คือ สัมปทาน PSC และ SC เพื่อให้สามารถเลือกนำมาใช้ได้กับแปลงสำรวจปิโตรเลียมที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับแต่ละประเภทสัญญา
อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบสัญญา SC ต้องตรงกับคุณสมบัติที่ คณะกรรมการปิโตรเลียมได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีผลการสำรวจพบปิโตรเลียม และมีข้อมูลคาดการณ์ได้ว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ (2P) เหลืออยู่ตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุม และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม
ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่พบปริมาณน้ำมันและก๊าซฯ ปริมาณมากขนาดนั้น จึงยังไม่มีการนำระบบ SC มาใช้ แต่หากพบพื้นที่ที่เหมาะสมจริง จะต้องจัดทำหนังสือสัญญาระบบ SC เพื่อลงนามระหว่างรัฐบาลกับผู้รับจ้างผลิต ซึ่งเป็นการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับผู้รับจ้างสำรวจและผลิต ซึ่งสัญญานี้จะกำหนดชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ลงทุน เงินมาจากไหน และผู้ที่ชนะประมูลเพื่อรับจ้างเป็นผู้ผลิตหรือเรียกว่า ผู้รับเหมานี้จะส่งเงินให้รัฐเท่าไหร่ หลังจากสำรวจ ผลิต ขายปิโตรเลียมและหักค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ทั้งนี้รัฐต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ้างผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวต้องไม่ขาดทุนในอนาคตด้วย
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 16 ก.ค. 2563