คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติใบอนุญาตให้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF ให้จัดหาและค้าก๊าซฯ (Shipper) 3 แสนตันต่อปี และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) จำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี ชี้เป็นการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซฯเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ได้ใบอนุญาต
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 ว่า บริษัทฯได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นปริมาณ 3 แสนตันต่อปี
โดยบริษัทจะจำหน่ายก๊าซธรรมชาติปริมาณดังกล่าวให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก( SPP) จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัทเพื่อผลิตไฟฟ้า จำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งการนำเข้าก๊าซฯดังกล่าว จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของโรงไฟฟ้า SPP ในกลุ่มบริษัทฯ ลดต่ำลงและทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าดังกล่าวต่ำลงด้วย
นอกจากนี้บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GULF ถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น51% ยังได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เช่นเดียวกัน
โดย HKH จะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และ 2568
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ กกพ. กล่าวว่า กกพ.ได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2563 โดยพิจารณาอนุมัติให้ 2 บริษัทในกลุ่ม GULF ได้รับใบอนุญาต Shipper สามารถนำเข้า LNG รายใหม่ จากเดิมมีเพียงบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ได้ใบอนุญาต Shipper เพียง 2 ราย โดยการนำเข้า LNG ดังกล่าวเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น โดยกลุ่ม GULF ได้ยื่นเสนอขอเป็น Shipper ในนามของบริษัทร่วมทุน 1 บริษัท และในนามของ GULF อีก 1 บริษัท เพราะมีโรงไฟฟ้าที่พร้อมรองรับการนำเข้า LNG ส่วนบริษัทอื่นที่ยื่นขอใบอนุญาตเข้ามายังไม่พิจารณาให้เป็น Shipper เนื่องจากเอกสารยังไม่สมบูรณ์และให้กลับไปแก้ไขใหม่
ที่มา : Energy News Center
วันที่ : 21 พ.ค. 2563