เซฟโซนโรงไฟฟ้า เขตปลอดโควิด-19 ภารกิจคน กฟผ. เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้กับสังคม
ในขณะที่นักวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทใหญ่เสียบเครื่องคอมพิวเตอร์นั่งทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อ Work From Home แม่บ้านทำกิจวัตรประจำวัน เปิดเครื่องซักผ้า เสียบปลั๊กหม้อหุงข้าว เด็กหนุ่มสาวนั่งในห้องแอร์เย็นฉ่ำ เปิดทีวีดูซีรีย์เกาหลี และหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ กำลังเปิดเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยผู้ป่วยขั้นวิกฤต อยู่นั้น
เหตุที่ไม่มีไฟฟ้าตกหรือดับให้ทุกคนต้องติดขัดมีปัญหาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในประเทศไทยขณะนี้ ก็เพราะยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เสียสละความสุขสบายของตัวเอง ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เพื่อมาอยู่ในแดนกักกันตัว หรือ “เซฟโซน” (Safe Zone) ภายในเขตรั้วโรงไฟฟ้า และห้ามออกนอกพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวัน เพื่อให้การทำงานมีความปลอดภัยจากวิกฤต โควิด-19 เต็ม 100% และปลอดโควิด-19 ไปจนกว่าจะไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย
คนกลุ่มนี้ คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ทั้งหมด ที่กระจายตัวทำงานอยู่ประจำ ณ โรงไฟฟ้าทุกแห่งของ กฟผ. เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้กับสังคม
ที่ต้องเข้มงวดจริงจังกันอย่างนี้ เพราะหากคนกลุ่มนี้ไปมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และต้องกักตัว 14 วัน หรือหากไปติดมาแล้ว และไปทำงานในห้องคอนโทรลซึ่งมีโอกาสจะทำให้เพื่อนร่วมงานพลอยต้องโดนกักตัวไปด้วย ก็จะส่งผลต่อการทำงานเพื่อควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทันที! ดังนั้น กลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จึงต้องกักตัวเองอยู่ใน Safe Zone ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน นับแต่มีมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ออกมา
เราจึงได้เห็นคลิปไวรัลน่ารักปนซึ้ง เมื่อลูกชายตัวน้อยของผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา ของ กฟผ. แวะมาหาคุณพ่อในระหว่างการประจำพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน และเด็กน้อยได้แต่ยืนบอก “คุณพ่อครับ คิดถึงนะครับ” อยู่นอกรั้ว เนื่องจากขณะนี้ กฟผ. มีการคุมเข้มการเข้าพื้นที่ และมี safe zone ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่อย่างเด็ดขาด อีกทั้งผู้ปฏิบัติงานงานเดินเครื่องจำเป็นต้องอยู่ภายในพื้นที่ safe zone ของ กฟผ. เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง และดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงไม่ตก ไม่ดับ อย่างที่บอก
“ภารกิจของ กฟผ. คือ ดูแลการผลิตไฟฟ้าในประเทศให้มีใช้อย่างเพียงพอ รักษาระบบการผลิตให้มีความมั่นคงอยู่ตลอด24 ชม. จึงต้องใช้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ มาทำงาน เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด หากสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เกิดไฟฟ้าดับ ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ เลวร้ายลงไปอีก รวมทั้งพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยอมกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็จะยิ่งลำบาก” นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC
ณัฐวุฒิ ซึ่งมีบทบาทในฐานะที่ควบคุมดูแลการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ. ทั่วประเทศ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะปล่อยให้พนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นตัวหลัก หรือหัวใจสำคัญของการทำงาน มีความเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิดนี้ไม่ได้ กฟผ. จึงได้มีมาตรการพิเศษสำหรับการทำงานในโรงไฟฟ้าและเขื่อนผลิตไฟฟ้า เน้น “ZERO COVID” เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความมั่นคงของระบบไฟฟ้าใน 3 เรื่องสำคัญ คือ
- จัดให้มีพื้นที่ควบคุม หรือ เซฟโซน สำหรับการทำงานและที่พักอาศัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ให้ออกนอกพื้นที่ควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงจากการออกไปข้างนอก ซึ่งอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อจากบุคคลภายนอก
- จัดให้มีห้องควบคุมสำรอง หรือ Backup Control Room ในทุกโรงไฟฟ้า กรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน มีผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อโควิดขึ้นมาและจำเป็นต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อในห้องคอนโทรลหลัก จะได้มีห้องคอนโทรลสำรอง เพื่อสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้อย่างไม่สะดุด
- จัดให้มีผู้ปฏิบัติงานสำรองเตรียมไว้สำหรับทำหน้าที่ทดแทน กรณีผู้ปฏิบัติงานหลักมีความเสี่ยงต้องกักตัว หยุดปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ภายในโรงไฟฟ้า กฟผ.ยังมีการซ้อมแผนฉุกเฉินอยู่เป็นระยะ โดยสมมติเหตุการณ์กรณีที่มีผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา แต่ละส่วนจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ยังสามารถสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้
“ในฐานะของฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบ ต้องขอบคุณผู้ปฎิบัติหน้าที่ของ กฟผ. ในเซฟโซนทุกคน ที่เสียสละความสุขสบายส่วนตัว มาทำงานเพื่อส่วนรวม ให้ประเทศมีความมั่นคงไฟฟ้า ให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งการดำเนินการในเซฟโซนผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็เผื่อไว้ว่าอาจจะมีในเรื่องของความเครียดในการทำงานอยู่บ้าง เพราะไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่เซฟโซนเลย เราก็จะมีการจัดทีมจิตแพทย์เข้าไปช่วยพูดคุยเป็นกรณีไป ส่วนทางฝ่ายบริหารเองก็มีการสื่อสารให้กำลังใจกันอยู่ตลอด เพราะภารกิจในเซฟโซนนี้ จะดำเนินไปจนกว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเหลือในประเทศไทย” นายณัฐวุฒิ กล่าว
รองผู้ว่าการฯ กฟผ. อธิบายว่า ในพื้นที่ที่กันไว้เป็นเซฟโซน ผู้ปฏิบัติงานจะมีการสลับเปลี่ยนกะ (shift) เพื่อให้มีผู้ปฏิบัติงานทำหน้าที่ในห้องคอนโทรลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงพัก ก็สามารถมีการสันทนาการ ออกกำลังกาย เล่นอินเตอร์เน็ต ดูหนัง ดู netflix หรือโทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัวได้เป็นปกติ ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันที่ทันสมัย สามารถพูดคุยเห็นหน้ากันได้ ก็ถือว่าช่วยได้มาก และหากอยากพบตัวจริง ก็สามารถมาเจอกันได้แบบมีระยะห่าง เพราะไม่สามารถเดินทางออกไปนอกพื้นที่ควบคุมได้ในช่วงนี้
เชฟโซนในโรงไฟฟ้า ทำให้เราได้เห็นถึงความเสียสละของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีภารกิจยิ่งใหญ่เพื่อให้คนทั่วประเทศได้มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา “มีเขา เรามีไฟ” โควิด-19 ซาเมื่อไหร่ เขาคงจะได้กลับไปพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวอีกครั้ง ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ขอขอบคุณและเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ภารกิจรักษาความมั่นคงทางไฟฟ้าของ กฟผ. ต่อไป
ที่มา : Energy News Center
วันที่ : 21 เม.ย. 2563