กรมธุรกิจพลังงานสรุปสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 2 เดือน (ม.ค. – ก.พ.) ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) เริ่มระบาดในประเทศไทย และก่อนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ “พบมีปริมาณ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 5.3 โดยกลุ่มดีเซล ลดลงร้อยละ 2.0 น้ำมัน อากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 4.4 น้ำมันเตา ลดลงร้อยละ 33.8 น้ำมันก๊าด ลดลงร้อยละ 9.2 LPG ลดลงร้อยละ 12.9 และ NGV ลดลงร้อยละ 12.6 ยกเว้นกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยประเมินตัวเลขช่วงเดือน มี.ค.-และเม.ย. ที่ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดพื้นที่เสี่ยงนั้นจะทำให้ ตัวเลขการใช้กลุ่มดีเซล เบนซิน และน้ำมันอากาศยานปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน ที่มีการสรุปสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 2 เดือน (ม.ค. – ก.พ.) ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) เริ่มระบาดในประเทศไทย และก่อนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ในรายละเอียด ว่า “การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 31.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 0.3 โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 30.95 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นร้อยละ 1.1
ขณะที่น้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 22.2 สำหรับภาพรวม การใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่า แก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 6.7 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.01 บาท/ลิตร รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 14.1 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 3.5 เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาใกล้เคียงกันโดยมีส่วนต่างเพียง 0.27 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 9.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 6.2 และ แก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 3.6
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น ร้อยละ 2.5 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 53.4 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 18.9 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561) โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วดังกล่าวอยู่ในการปรับเปลี่ยนตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศและใช้มาตรการราคาเป็นกลไกผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 20.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 4.4 เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมีนัยสำคัญ
การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.8 ล้านกก./วัน ลดลงจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 12.9 โดยปริมาณการใช้ภาคปิโตรเคมีลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 24.5 ภาคขนส่งมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.6 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 13.5 ภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.9 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 1.9 และภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 1.8
การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.9 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 12.6 โดยมีสาเหตุมาจากการปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนและรถโดยสารหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็วบี 20 ทดแทน
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 922,977 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 10.3 คิดเป็นมูลค่า 59,406 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นลง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 30,392 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 64.9 คิดเป็นมูลค่า 1,947 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 175,222 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง ร้อยละ 6.7 คิดเป็นมูลค่า 11,234 ล้านบาท/เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีการประเมินตัวเลขการใช้น้ำมันช่วงเดือน มี.ค.-และเม.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางออกต่างจังหวัด และไม่ให้วันที่13-15 เม.ย.2563 เป็นวันหยุดราชการจะทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันทั้งกลุ่มดีเซล กลุ่มเบนซิน และน้ำมันอากาศยานจะปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา : Energy News Center
วันที่ : 31 มี.ค. 2563