“สนธิรัตน์” ลั่นเดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกลาง เม.ย.นี้ ยัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด สั่งทุกส่วนให้ดูระบบการยื่นให้ดีเพื่อป้องกันผลกระทบโควิด-19 หากทำผ่านออนไลน์จะได้หรือไม่ หวังอัดเม็ดเงินกระตุ้น ศก.ฐานราก ขณะที่ พพ. เตรียมสรุปรูปแบบการยื่นข้อเสนอเร็วๆ นี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลได้ทำการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 63 เพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากแต่อย่างใดในปัจจุบัน โดยจะเดินหน้าตามแผนเดิมที่จะมีการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ในกลางเดือน เม.ย.นี้ โดยเฉพาะส่วนของระยะเร่งด่วน (ควิกวิน) เพื่อที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบ
“ไทยกำลังเผชิญกับผลกระทบโรคโควิด-19 ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการลงทุนและมีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากแบบเร่งด่วน กลางเดือน เม.ย.นี้จะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการฯ ได้ ไม่แตะเบรกเรื่องนี้ เพราะจะทำให้พี่น้องระดับล่างมีรายได้” นายสนธิรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอนั้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ โดยกำชับให้คำนึงถึงผลกระทบการแพร่กระจายโควิด-19 เป็นสำคัญ โดยหากต้องมีการยื่นเอกสารจะทำอย่างไร โดยกรณีต้องเตรียมสถานที่รองรับการยื่นก็ต้องปลอดภัย มีการเว้นระยะห่าง มีจุดตรวจคัดกรอง หรือหากจะยื่นผ่านระบบออนไลน์จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องวางแผนอย่างรัดกุม
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์จัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากไปแล้วระหว่างวันที่ 13-27 มี.ค. 2563 หลังจากนี้จะต้องรอการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งระหว่างนี้พพ.จึงได้หารือกับทีมงานเพื่อกำหนดรูปแบบในการเปิดยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมแผนขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน (Policy Quick Start) ของกระทรวงพลังงาน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานพิจารณต่อไป
“เราเองก็ดูเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าจะกระทบต่อการดำเนินโครงการอย่างไร จำเป็นต้องเลื่อนเปิดยื่นเสนอโครงการหรือไม่ หรือหากยื่นเสนอผ่านออนไลน์ ระบบฐานข้อมูลจะรองรับเอกสารจำนวนมากได้หรือไม่ ก็จะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบก่อนที่จะสรุปเพื่อเสนอต่อ รมว.พลังงานพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการดำเนินงานได้ในเร็วๆ นี้” นายยงยุทธกล่าว
สำหรับการเปิดยื่นเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นั้น จะเป็นการเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทเร่งด่วน หรือ Quick Win จำนวนไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ก่อน และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในปี 2564
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/business/detail/9630000032112
วันที่ : 30 มี.ค. 2563