เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายหิน นววงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันพลังงานฯ พร้อมด้วยนายรวิวัฒน์ พนาสันติภาพ กรรมการสถาบันพลังงานฯ และนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร นำคณะฯ ส.อ.ท. เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมการดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย นางสาวภัทรา สุวรรณเดช ผู้ช่วยผู้ว่าการ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ให้เกียรติต้อนรับ ณ อาคารสำนักงานเพลินจิต การไฟฟ้านครหลวง
คณะฯ ได้ศึกษาดูงานอาคารสำนักงานเพลินจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารของ MEA ที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียวและเป็นที่ยอมรับระดับสากล รวมทั้งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำออกแบบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Leadership in Energy and Environmental Design : LEED) ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของหน่วยงาน U.S. Green Building Council (USGBC) & Green Business Certification Inc. (GBCI) รวมถึงได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว (Green office) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังได้ศึกษาดูงานในระบบ Building Energy Management System ระบบเครื่องทำน้ำเย็น Oil free Magnetic bearing with VSD Chiller และการควบคุมคุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality: IEQ) ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ (Photovoltaic system) และการบริหารจัดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) ซึ่งนับเป็นต้นแบบสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสียจากการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases : GHGs) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากการศึกษาดูงาน ทางคณะฯ ได้เรียนรู้ว่า smart meter เป็นหัวใจหลักในการวัดข้อมูลการใช้ การผลิตพลังงาน สามารถตอบสนองการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า พร้อมรองรับทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังสนับสนุนการเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ และแก้ไขปัญหาด้านระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นการพัฒนางานด้านระบบไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ มีความมั่นคง เชื่อถือได้ และสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในช่วงท้าย MEA ยังเปิดโอกาสให้คณะฯ เยี่ยมชมโครงการ PLUG ME EV ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะสามารถต่อยอดรูปแบบการติดตั้งสถานีอัดประจุภายในอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม หรืออาคารอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ติดตั้งและด้านระบบไฟฟ้า อีกทั้ง MEA ยังมีความพร้อมรองรับการใช้งาน EV ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัยควบคู่กับ TLM (Transformer Load Monitoring) เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload และบริหารจัดการระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนขยายการติดตั้งสถานีชาร์จ EV ให้บริการประชาชนในพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงการพัฒนา MEA EV Application ให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น