บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย ได้ทำสัญญาและดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยระยะไกล 3 (RS3) ขนาด 115 kV และ 22 kV กับผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ และพันธมิตร บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) โดยสถานีไฟฟ้าย่อยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 4 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดระยอง
สถานีไฟฟ้าย่อยระยะไกล 3 (RS3) ได้รับการออกแบบให้เป็นสถานีย่อยดิจิทัลโดย บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์หลักทั้งหมด ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า สวิตช์เกียร์ไฟฟ้าแรงสูง ระบบควบคุมและรีเลย์ป้องกัน พร้อมอุปกรณ์ส่งสัญญาณแบบดิจิทัล ซึ่งแปลงสัญญาณแอนะล็อกเป็นดิจิทัลด้วยอุปกรณ์ SAM 600 ทั้งยังเสริมด้วยอุปกรณ์ตรวจจับออนไลน์อื่นๆ ได้แก่
- CoreSenseTM เป็นการตรวจจับระดับก๊าซไฮโดรเจนและความชื้นในน้ำมันหม้อแปลงแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง ซึ่งสามารถส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเมื่อเกิดความผิดปกติในหม้อแปลง
- CoreTec™ เป็นการตรวจสอบการทำงานของหม้อแปลงแบบเรียลไทม์ โดยตรวจสอบพารามิเตอร์ด้านสุขภาพของหม้อแปลงที่สำคัญ เช่น อุณหภูมิน้ำมัน อุณหภูมิแวดล้อม และโหลดของการใช้ไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์ CoreTec™ จะสร้างแบบจำลองอัลกอริทึมตามมาตรฐาน IEC และ IEEE เพื่อเตือนผู้ปฏิบัติงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะอย่างกะทันหันในหม้อแปลง
- Modular Switchgear Monitoring (MSM) เพื่อควบคุม จัดการ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของสวิตช์เกียร์ไฟฟ้าแรงสูงโดยการตรวจสอบพารามิเตอร์ที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และจัดเตรียมเลเยอร์พื้นฐาน เพื่อวางแผนการบำรุงรักษา
ความสามารถของสถานีย่อยดิจิทัลนั้น จะใช้การสื่อสารข้อมูลเป็นแบบดิจิทัล ซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะการทำงานของอุปกรณ์ในสถานีย่อยได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยวางแผนการตรวจสอบ บำรุงรักษา และการใช้สายไฟเบอร์ออฟติกแทนสายเคเบิลทองแดง จะช่วยให้การทำงานของสถานีปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดเวลาการติดตั้ง รวมถึงต้นทุนรวมของเจ้าของโครงการอีกด้วย
–
“สถานีไฟฟ้าดิจิทัล จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและการผสานรวมรูปแบบใหม่ของพลังงานสะอาด อีกทั้งให้บริการด้านพลังงานในรูปแบบที่เป็นนวัตกรรมสร้างความปลอดภัยยิ่งขึ้น สถานีย่อยแห่งนี้จะผสมผสานงานด้านวิศวกรรมและการจัดการโครงการที่ใช้ทักษะสูง บุคลากรผ่านการฝึกอบรมและมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ เรารับประกันว่าการดำเนินการทั้งหมดจะราบรื่นและการส่งมอบจะตรงเวลา” จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าว
“สถานีไฟฟ้าดิจิทัล คืออนาคตของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าทั้งหมด เทคโนโลยีสถานีไฟฟ้าดิจิทัลอัจฉริยะของ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบ ใช้ได้กับงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยแห่งใหม่และงานขยายสถานีไฟฟ้าย่อยเดิม ในฐานะผู้นำระดับโลกและผู้บุกเบิกด้านระบบควบคุมและป้องกันอัตโนมัติของสถานีย่อย เราได้นำเสนอทางออกเพื่อให้การส่งและจ่ายพลังงานมีความน่าเชื่อถือ ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่ครอบคลุมของเราจะช่วยให้พันธมิตรเพิ่มศักยภาพในการป้องกัน การควบคุม และการตรวจสอบ ซึ่งส่งผลให้เกิดความน่าเชื่อถือและความพึงพอใจของลูกค้า ในขณะที่รับประกันผลตอบแทนที่มากขึ้นจากการลงทุน” ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวปิดท้าย
ที่มา: Energy News Center
วันที่ : 20 มิ.ย. 2565