แผน AEDP ภาคประชาชน (แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงาน)
คุณซัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ ประธานคณะทำงานย่อย AEDP ภาคประชาชน
AEDP แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
ที่มาและความสำคัญ และประโยชน์
จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายด้านที่มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่ง ได้ก่อมลภาวะให้กับโลก ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน เกิดภัยธรรมชาติ อาทิเช่น น้ำท่วมใหญ่ ความแห้งแล้ง ไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกละลายทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ตลอดจนสภาวะฝุ่น PM 2.5 สภาพดังกล่าวมีส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดด บวกกับการ Disruptive Technologies ที่ทำให้เกิดพลังงานหมุนเวียนและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อันได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งในปัจจุบันมีราคาถูกกว่าน้ำมัน นอกจากนี้ระบบกับเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกประเทศสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และเพื่อสนับสนุนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แสงดเจตจำนงใน COP26
ภาครัฐเปลี่ยนบทบาทจากส่งเสริมสนับสนุน เป็นการควบคุมและกดราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายเล็ก (Small Power Producer-SPP) และผู้ประกอบการรายเล็กมาก (Very Small Power Producer-VSPP) มีการ เพิ่มกฎระเบียบมากมาย ที่สำคัญมีหน่วยงานจากหลายกรมหลายกระทรวง เข้ามาร่วมดูแลผู้ประกอบการ ทำให้ขั้นตอนในการขออนุญาตขายไฟฟ้าใช้เวลานานมากขึ้น เช่น (PPA) จากเดือนเป็นปี และปัจจุบัน บางเชื้อเพลิงใช้เวลาในการขออนุญาตขายไฟฟ้านานนับ 10 ปี ส่วนแผนพัฒนาพลังงานทั้ง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plant-PDP) และ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan- AEDP) ก็ปรับเปลี่ยนตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแลกระทรวงพลังงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา
AEDP ภาคประชาชน จึงได้จัดทำขึ้น โดยถือเป็นฉบับแรก ที่เกิดจากภาคเอกชนที่จะสะท้อนความจริงอีกด้านของอุตสาหกรรมฯ และยังต้องมีการพัฒนาและต่อยอดต่อไปเพื่อให้ทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ประสานทั้งศักยภาพ ความสามารถ ของทุกภาคส่วนในการที่สร้างอนาคตด้านพลังงานให้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทย สร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่พึ่งพาแหล่งพลังงานทดแทนที่ประเทศมีศักยภาพมาใช้ให้เต็มที่ สร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจโดยมีประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงและเป็นประโยชน์ และสุดท้ายสร้างความยั่งยืนจากการไม่สร้างภาระด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศและโลกนี้ทั้งด้านสภาวะโลกร้อน และกระจายรายได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
กรอบแนวคิดและเป้าหมายแผนงานที่เกี่ยวข้อง/มาตรการส่งเสริมและสนับสนุน
- การปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานให้รองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
- การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third Party Access)
- อัตราค่าบริการในการใช้หรือการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge)
- การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทในอัตราที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของ Prosumer
- การสนับสนุน Digital Platform และพัฒนาระบบ Smart Grid อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เพื่อรองรับ Distributed Energy Resources
- ดำเนินนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง
- ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ โดยการนำขยะมาผลิตไฟฟ้า
- ใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อรักษาความเสถียรภาพสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล หรือ พื้นที่ที่มีไฟตกดับ
- นำปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เหลือไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการไฟฟ้า
- สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ให้กับประเทศไทย
- ด้านกฎระเบียบ
- ลดขั้นตอน หรือ รวมศูนย์ ในการยื่นเอกสารการขอใบอนุญาตต่าง ๆ
- มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลใบอนุญาตต่าง ๆ
- มีความชัดเจนในขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ
- มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการกำกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า
- การสนับสนุนเงินทุน
- มีนโยบายสนับสนุนเงินกู้ให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
- มีนโยบายสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ
- มีนโยบายสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า
- สนับสนุนเงินทุนหรือรูปแบบการลงทุนในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา