แผน Digital Platform

แผน Digital Platform ภาคประชาชน
คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล ประธานคณะทำงานย่อย Digital Platform และ Transmission Line ภาคประชาชน

ข้อมูลทั่วไป

สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะทำงานแผน Digital Platform ภาคประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในการจัดทำแผน Digital Platform โดยการวาง roadmap ที่ทำได้จริงเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ความสำคัญ

ในอนาคตระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะมีความซับซ้อนทั้งทางด้านกลไกและการดำเนินการกว่าเดิมมาก นั่นยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาคพลังงานจะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการควบคุม กำกับ และดูแลระบบ เพื่อให้เกิดการสอดรับกับปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว (Distributed Generation) ซึ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างราคาการรับซื้อไฟฟ้าควรมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้แบบทันที (Real-Time) ตามอุปสงค์อุปทานไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ดังนั้นแพลตฟอร์มกลางจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยให้การไฟฟ้านำไปใช้ในการบริหารโครงช่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพและใช้ในการวางแผนและพยากรณ์การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยในการกำหนดแผนการขยายระบบสายส่ง-สายจำหน่ายในภาคพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในสายส่งและสายจำหน่ายได้ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับกับแนวโน้มของ Prosumer ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในอนาคตที่ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทProsumer จะมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น จึงควรมีระบบการตรวจสอบการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและมีระบบป้องกันที่เหมาะสม และต้องมีการพยากรณ์กำลังผลิตของ Prosumer ล่วงหน้า เพื่อประเมินความเสี่ยงและกำหนดแผนรองรับ รวมถึงตลาดคาร์บอน อันเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่ใช้สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก

มาตรการส่งเสริมหรือสนับสนุน

  1. ด้านการประสานงานกับ Distribution Operator
    • ต้องมีกระบวนการและกฎเกณฑ์ทีชัดเจนในการประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ Distribution Operator โดยที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงานจะสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ควรครอบคลุมถึงกรณีกระบวนการและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ถ้าหากต้องมีการติดตั้งระบบสายส่งเป็นแบบ Private Microgrid ด้วย
    • Distribution Operator ติดตั้งอุปกรณ์ Smart Meter ที่อ่านค่าได้ทั้งGrid Import และ Grid Export และมีระบบ Server ที่อนุญาตให้ Prosumer และ Consumer สามารถอ่านค่า Grid Import โดยจำแนกว่ามาจาก Distribution Operator และ Prosumer เท่าใด และ Grid Export เท่าใด เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่มีการซื้อขายกันแบบ Peer-to-Peer Trading มาได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมี Aggregator หรือ Community Manger เป็นตัวแทนของProsumer และ Consumerก็สามารถให้ Aggregator หรือ Community Manger เป็นตัวแทนในการเข้าถึงระบบ Server แทน
    •  การเรียกเก็บค่าไฟฟ้า
      • ทางเลือกที่ 1 : ทาง Distribution Operator และ Prosumer ต่างเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเฉพาะของตนเอง
      • ทางเลือกที่ 2 : ทาง Distributor Operator เรียกเก็บค่าไฟฟ้าทั้งหมดแล้วทาง Prosumer หรือ Aggregator หรือ Community Manager เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจาก Distributor Operator ในฐานะตัวแทนของ Prosumer เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจาก Distributor Operator แล้วAggregator หรือ Community Manager เป็นผู้จ่ายเงินให้กับ Prosumer แต่ละรายต่อไป
    • ต้องมีการตรวจสอบกระบวนการจัดเก็บข้อมูลและมาตรฐานของอุปกรณ์ที่รัดกุมหรืออาจจัดให้มีหน่วยงานกลาง ซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้ตรวจสอบและยืนยัน
    • ต้องมีหลักเกณฑ์ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล
    • ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้สายส่งในการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Trading ควรจะมีความเหมาะสม โดยไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้เกิดแรงจูงใจการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Trading
  1. ด้านใบอนุญาต
    • ต้องมีกระบวนการและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ Distribution Operator โดยที่สำนักงานกำกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการได้อย่างชัดเจน
    • การขอใบอนุญาต ควรอนุญาตให้ Aggregator หรือ Community Managerสามารถกระทำการแทน Prosumer และ Consumer โดยมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวของสัญญาให้สามารถเพิ่มและลดจำนวนคู่สัญญาได้
  1. ด้านภาษี
    • ควรมีการประชาสัมพันธ์บทบาทและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีที่เกี่ยวข้อง สำหรับ Prosumer, Consumer, Aggregator และผู้อื่นให้เป็นที่เข้าใจและเพื่อทำให้กระบวนการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นสะดวกขึ้น ทาง Aggregator หรือ Community Manager สามารถกระทำการทางด้านภาษีแทน Prosumer และ Consumer ได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการหลีกเลี่ยงการสำแดงภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
  1. ด้านกฎหมาย
    • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรพิจารณาศึกษาการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้ครอบคลุมการกำกับดูแลผู้จดแจ้งยกเว้นการขอใบอนุญาตโดยอาจแก้ไขมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานฯให้สามารถออกกฎหมายลำดับรองในการกำกับดูแลกลุ่มผู้จดแจ้งยกเว้น รวมถึงมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าของกลุ่มผู้จดแจ้งยกเว้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานฯ
    • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรพิจารณาศึกษาการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับลดขนาดของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป
    • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาศึกษาและจัดทำกฎหมายลำดับรอง กฎระเบียบ และ/หรือมาตรการกำกับดูแล เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยประกอบด้วยหัวข้อ
    • ข้อกำหนดการใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลที่สาม (Third Party Access; TPA Code) และอัตราค่าบริการการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่เป็นธรรมและส่งเสริมการแข่งขัน และปฎิบัติตามมาตรา 66 ใน พ.ร.บการประกอบกิจการพลังงาน พศ 2550 ว่าด้วยเรื่องเปิดเผยสูตรหรือวิธีการที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการ
    • การกำกับดูแลการรายงานข้อมูล และมาตรการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
    • ความเหมาะสมในการตั้งศูนย์ควบคุมระบบจำหน่ายไฟฟ้า(Distribution System Operator; DSO)
    • การศึกษาและทดลองแนวทางการรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่แน่นอนในสัดส่วนที่สูงในรูปแบบ Sandbox
    • การกำกับดูแล ผู้ให้บริการ Digital Platform เพื่อการซื้อขายไฟฟ้าและคนกลางที่ทำหน้าที่จัดการทรัพยากรไฟฟ้าหรือ Community Manager (AGGREGATOR)
    • ควรมีกระบวนการและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเป็นการให้ข้อมูลแบบ One-Stop Service
    • ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อกำหนดอัตราที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้เหมาะสม โดยไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎเกณฑ์ระหว่างการศึกษาและพัฒนาอาจจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและต้องสามารถกระทำการได้อย่างรวดเร็ว

โครงการนำร่องที่เกิดขึ้นแล้ว

โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ และจัดทำแผนที่นำทางแพลตฟอร์มดิจิทัลการไฟฟ้าแห่งชาติเสนอต่อการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดทำโดย วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร, มีนาคม 2563

เยี่ยมชมแล้วจำนวน (ครั้ง) :853