แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

แผน Oil & Gas ภาคประชาชน (แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ)
คุณณรงค์ชัย วิสูตรชัย ประธานคณะทำงานย่อยแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ภาคประชาชน

ความเป็นมา

สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม (“สถาบันฯ”) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการ สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการอนุรักษ์พลังงาน ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการประสานงานและให้ความร่วมมือกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านพลังงาน ทั้งนี้ การศึกษาแนวนโยบายด้านพลังงาน และนำเสนอข้อคิดเห็นในแผนพลังงานที่สำคัญของประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการด้านพลังงาน รวมไปถึงการกำหนดนโยบาย และทิศทางของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด

สถาบันฯ เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาด้านพลังงาน จึงได้ตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อทำการศึกษาแผนพลังงานภาคประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ภาคประชาชน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผน Digital Platform และ Transmission line โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพที่ยั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ โดยในการศึกษาส่วนนี้ จะเป็นการศึกษาแผนบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็น 2 แผนหลักในแผนพลังงานชาติ

ความสำคัญ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนบูรณาการในภาพรวมระยะยาว (TIEB) โดยจะมีระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยแผน TIEB นี้ ประกอบไปด้วย

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP)
  • แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan : EEP)
  • แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP)
  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2561 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับภูมิภาคให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเป็น 1 ในแนวทางเพื่อรักษาความมั่นคง และมีการศีกษาความต้องการไฟฟ้า และกำลังการผลิตไฟฟ้ารายภูมิภาค

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 กพช. ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065-2070  ซึ่งจะมีผลต่อแนวทางในการพัฒนาพลังงาน รวมทั้งต้องมีการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรอบแนวคิดและเป้าหมายของแผนงานที่เกี่ยวข้อง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พลังงานฟอสซิลทั้ง 2 ชนิด คือ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานที่มีความสำคัญ และมีสัดส่วนการใช้ที่สูงมากโดยเฉพาะในภาคขนส่ง และภาคการผลิตไฟฟ้า การกำหนดกรอบแผนพลังงานชาติที่มุ่งเน้นเป้าหมาย Carbon Neutrality ก็จะส่งผลกระทบต่อแผนบริหารและจัดการก๊าซธรรมชาติ เพราะทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่พลังงานทั้ง 2 ชนิดจะยังคงมีความสำคัญในระดับหนึ่ง และยังคงมีความจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ และเกิดความสมดุลของการใช้พลังงาน

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และ ก๊าซธรรมชาติ ดังนี้

  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง 2015 (Oil plan 2015)
  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 2018 (Gas plan 2018)

ในส่วนกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่ กพช. ได้เห็นชอบไปแล้วนั้น ได้มีการกำหนดเป้าหมายหลักในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 และมีการกำหนดแนวทางหลัก ดังนี้

  • การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 50%
  • การปรับเปลี่ยนเป็นการใช้พลังงานสีเขียวมากขึ้น โดยตั้งเป้า EV 30@30 นั่นก็คือการผลิตรถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030
  • การมุ่งเน้นเรื่อง Efficiency ในการใช้พลังงานให้มากกว่า 30%
  • การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเพื่อรองรับ 4D1E

มาตรการส่งเสริมและสนับสนุน

ภาพรวมของพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานนี้ คณะทำงานด้าน Oil & Gas เห็นว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงมีความสำคัญในระดับหนึ่ง และความต้องการน้ำมันจะปรับลดไป ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น นโยบายภาครัฐ ในเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ นโยบาย Carbon Neutrality การส่งเสริม Bio Fuel ข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ของนานาประเทศ รวมไปถึง การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ เป็นต้น

ในด้านก๊าซธรรมชาติ คณะทำงาน  Oil & Gas เห็นว่าก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ต่อไป และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ยังคงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ การกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจึงควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม รวมถึงควรมีการคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ Infra Structure ที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่าการศึกษาการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงในแผนพัฒนาไฟฟ้า หรือ PDP

คณะทำงานจะทำการศึกษา เพื่อนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นสำหรับการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมัน และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ในโอกาสต่อไป

โครงการนำร่องที่เกี่ยวข้อง

  1. โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นําเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) การทดสอบนวัตกรรมในโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้าจริง โดยกกพ. ได้กำหนดอัตรา Wheeling Charge สําหรับโครงการ ERC Sandbox ให้มีอัตราเท่ากันทุกโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Uniform Tariff โดยมีค่าเท่ากับ 1.151 บาทต่อหน่วย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น และนําไปปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การขอใช้บริการผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Third Party Access : TPA Code) อย่างไรก็ตามควรมีการทบทวน Wheeling Charge ให้เหมาะสมและจูงใจ
  2. การรับฟังความคิดเห็น เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework) เพื่อเพิ่มการแข่งขันและปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า
  3. การรับฟังความคิดเห็น เรื่อง โครงการศึกษาโครงสร้างและการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อการแข่งขันภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single Buyer ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ TPA Regime และ TPA Code การวิเคราะห์ TSC Framework และ TSO Code และการออกแบบรูปแบบตลาดที่ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ
  4. การรับฟังความคิดเห็นในร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ
    • (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ สำหรับผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ
    • (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตเก็บรักษาและ แปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ
    • (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับผู้รับใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ
เยี่ยมชมแล้วจำนวน (ครั้ง) :1564