สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) มุ่งหวังจะมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปพลังงานของประเทศอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นที่สุด และเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่จำเป็นต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกันในทุกๆ ด้านอย่างสมเหตุสมผลและยั่งยืน และได้มีจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแผน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) จำนวน 2 รอบ โดยรอบที่ 1 สำหรับสภาอุตสาหกรรมฯ และกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2564 และรอบที่ 2 สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจด้านพลังงาน ระหว่างวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป นับเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำแผน NEP ภาคประชาชนให้มีความสมบูรณ์ เพราะการจะก้าวไปข้างหน้าตามเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ได้นั้นต้องมีความโปร่งใสชัดเจนและมีความต่อเนื่องของนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ โดยทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นและสะท้อนความเป็นจริง การระดมความคิดเห็นครั้งนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดียิ่งทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีการร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนวความคิด ข้อเสนอแนะ ซึ่งคณะทำงานฯ จะนำไปปรับปรุงแผน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน อันจะมีส่วนช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูล แนวความคิด และข้อเสนอแนะจากประชาชนไปประกอบการพิจารณาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และต่อประเทศชาติ ซึ่งหลังจากรับฟังความเห็นแล้วจะจัดทำฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
การประชุมรับฟังความคิดเห็นแผน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) ได้รับเกียรติจาก นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะทำงาน PDP ภาคประชาชน และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ในการแถลงถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพลังงานชาติภาคประชาชน (National Energy Plan) หรือ “แผน NEP ภาคประชาชน” ว่า มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยเร่งแทนที่พลังงานฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียน และมีการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับแผน NDC (Nationally Determined Contribution) มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) อย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะทำงานฯ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบค่าไฟฟ้า เปรียบเทียบต้นทุนแต่ละประเภทพลังงานบนฐานที่เป็นธรรม หาวิธีการเพื่อลดภาระประชาชนที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยสนับสนุนแนวทางการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Renewable and ESS electricity surcharge) ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ในภาคขนส่ง ศึกษาการวิเคราะห์หาแนวทางในการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้า Prosumer โดยใช้ Blockchain นวัตกรรมที่จะเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้เอกชนกับเอกชนซื้อขายไฟฟ้า ในรูปแบบ Peer to Peer ผ่าน Digital Trading Platform เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมาตรการที่เข้มงวดด้าน Climate Change ของประชาคมโลก ให้เป็นไปในแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดทำแผนพลังงานย่อยที่มีการเชื่อมโยง สอดประสาน และมีเป้าหมายเดียวกันไว้อย่างสมบูรณ์
สำหรับข้อเสนอที่คณะทำงานแผน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) ได้เสนอแนะและเปิดรับฟังความคิดเห็น
ประกอบด้วย 5 แผน ที่สำคัญ ได้แก่
แผน AEDP ภาคประชาชน (Alternative Energy Development Plan) มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน
แผน AEDP ภาคประชาชน มีคณะวิทยากร โดย นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ประธานคณะทำงานยานยนต์ไฟฟ้า, นายอาทิตย์ เวชกิจ ประธานคณะ Prosumer, นายชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ ประธานคณะทำงานพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ,นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานคณะโรงไฟฟ้าจากพืชเกษตร ,นายทวี จงควินิต ประธานคณะโรงไฟฟ้าจากขยะและนายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานคณะทำงานไบโอฟูเอล ได้นำเสนอกรอบแนวคิด/มาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ดังนี้
- การปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานให้รองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third Party Access), การกำหนดอัตราค่าบริการในการใช้หรือการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge), การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทในอัตราที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของ Prosumer, การสนับสนุน Digital Platform และพัฒนาระบบ Smart Grid อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เพื่อรองรับ Distributed Energy Resources, การดำเนินนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง, การให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ โดยการนำขยะมาผลิตไฟฟ้า, นำปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เหลือไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ให้กับประเทศไทย
- ด้านกฎระเบียบ เช่น การลดขั้นตอน หรือ รวมศูนย์ ในการยื่นเอกสารการขอใบอนุญาตต่าง ๆ, การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลใบอนุญาตต่าง ๆ และการมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการกำกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า
- การสนับสนุนเงินทุนและเงินกู้แก่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า เช่น มีนโยบายสนับสนุนเงินกู้ให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน, มีนโยบายสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และมีนโยบายสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า
แผน EEP ภาคประชาชน (Energy Efficiency Plan) มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
นายอาทิตย์ เวชกิจ ประธานคณะทำงานย่อย EEP ภาคประชาชน ได้ให้ข้อมูลถึง Energy Efficiency ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ทั่วโลกยอมรับว่า เป็นมาตรการที่มีความสำคัญที่จะต้องทำเป็นอันดับแรก ๆ และเป็นกลไกสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะมาช่วยเรื่องการลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทั่วโลกจะต้องทำก่อนที่จะไปผลิตพลังงานใช้กัน คณะทำงานฯ ได้มีความมุ่งหวังถึงความร่วมมืออย่างแข็งแรง ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยพยายามให้ภาครัฐช่วยสนับสนุน ช่วยอำนวยความสะดวก และการปลดล็อคปัญหา หรือระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงเปิดทางให้ภาคประชาชนได้เข้าทำงานด้าน Energy Efficiency อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้งานด้านนี้พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด รวดเร็ว และมีปริมาณมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้น เพราะว่าเรื่องนี้ทั่วโลกยกไว้เป็นเป้าหมายขั้นแรก
คณะทำงานแผนย่อย EEP ภาคประชาชน ฯ ตระหนักถึงความท้าทาย และข้อจำกัดต่อการดำเนินงานด้าน Energy Efficiency ที่ผ่านมาของประเทศ จึงได้พิจารณาและกลั่นกรองเพื่อเสนอเครื่องมือที่จะมาส่งเสริมงานด้านอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยมี 6 ด้าน ประกอบด้วย
- Database (Industrial, Commercial and Residential Sector)
- Measurement and Verification (M&V)
- Related to Climate Change
- Energy Efficiency Measures
- Risk Management / Guarantee facility
- Finance & Tax Scheme
แผน Oil & Gas ภาคประชาชน มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ประธานคณะทำงานย่อย Oil & Gas ภาคประชาชน ได้กล่าวถึงภาพรวมของพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน คณะทำงานด้าน Oil & Gas เห็นว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงมีความสำคัญในระดับหนึ่ง และความต้องการน้ำมันจะปรับลดไป ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ และด้านก๊าซธรรมชาติ ทางคณะทำงานฯ เห็นว่าก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ต่อไป และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ยังคงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ การกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจึงควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม รวมถึงควรมีการคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ Infrastructure ที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่าการศึกษา รวมถึงการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงในแผนพัฒนาไฟฟ้าให้สอดคล้องเหมาะสมต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยคณะทำงานฯ ได้เสนอกรอบแนวคิด/มาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ได้แก่ การยกเลิกการส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหิน, นโยบาย Net zero carbon emission จะมีความสำคัญ และเป็นตัวแปรต่อสัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิล, การกำหนดนโยบายเรื่อง EV มีผลต่อความต้องการไฟฟ้าของประเทศ และความต้องการใช้ก๊าซของประเทศ, ก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า, LNG market liberalization การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ,Finalized TPA CODE both Wholesales and Distribution system, สัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็น Firm ควรมีประมาณ 1/3 ของกำลังการผลิตของประเทศ และเชื้อเพลิงฟอสซิลหลักควรเป็นก๊าซธรรมชาติหรือ LNG ตลอดจนควรส่งเสริมโรงไฟฟ้า SPP Cogeneration ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ
แผน ESS ภาคประชาชน (Energy Storage System) มุ่งเน้นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ประธานคณะทำงานย่อยแผน ESS ภาคประชาชน กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้ระบบกักเก็บพลังงานในไทยมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น นำมาใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลม (Wind Energy) หรือระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การพึ่งพาระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่อาจจะหมดไปในอนาคตลดน้อยลง รวมถึงอัตราการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศที่ลดลง และยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือชิ้นส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในหมวดหมู่อุตสาหกรรมพลังงานและอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเติบโตควบคู่กันไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาจนำไปสู่ความเป็นผู้นำทางด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีแนวทางการแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่ยังไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ไฟฟ้า และโครงข่ายไฟฟ้าส่วนกลางซื้อขายไฟฟ้าได้ 2 ทาง รวมถึงการห้ามซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ตลอดจนข้อจำกัดด้านกฎหมาย รวมถึงนโยบายจากภาครัฐที่ยังไม่มีการส่งเสริมการลงทุนด้าน Energy Storage System (ESS) อย่างจริงจัง
แผน Digital Platform และ Transmission Line ภาคประชาชน มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและสายส่ง
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ประธานคณะทำงานย่อยแผนแผน Digital Platform กล่าวว่า ในอนาคตระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะมีความซับซ้อนทั้งทางด้านกลไกและการดำเนินการกว่าเดิมมาก นั่นยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาคพลังงานจะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการควบคุม กำกับ และดูแลระบบ เพื่อให้เกิดการสอดรับกับปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว (Distributed Generation) ซึ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างราคาการรับซื้อไฟฟ้าควรมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้แบบทันที (Real-Time) ตามอุปสงค์อุปทานไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นแพลตฟอร์มกลางจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยในการบริหารโครงช่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพและใช้ในการวางแผนและพยากรณ์การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยในการกำหนดแผนการขยายระบบสายส่ง-สายจำหน่ายในภาคพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในสายส่งและสายจำหน่ายได้ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับกับแนวโน้มของ Prosumer ที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ควรมีระบบการตรวจสอบการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและมีระบบป้องกันที่เหมาะสม และต้องมีการพยากรณ์กำลังผลิตของ Prosumer ล่วงหน้า เพื่อประเมินความเสี่ยงและกำหนดแผนรองรับ รวมถึงส่งเสริมตลาดคาร์บอน อันเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่ใช้สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก
โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นแผน PDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน) ได้มีผู้เข้าร่วมงานในวันที่ 17-18 พ.ย. 64 วันแรกจำนวน 116 คน และวันที่ 2 จำนวน 101 คน และงานประชุมรับฟังความเห็นในวันที่ 1-2 ธ.ค. 64 มีจำนวนผู้เข้าร่วม 182 คนและ 142 คนตามลำดับ
*******************************************************************************************
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแผนPDP ภาคประชาชน (NEP ภาคประชาชน)
เว็บไซต์: WWW.IIE.FTI.OR.TH
Facebook: สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สพ. โทรศัพท์ : 0 2345 1245-56